9.หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 9)

 

หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 9)

 

ประโยค ย ต

          ความจริงประโยค ย ต หรือที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า สังกรประโยคนี้ นักศึกษาได้ศึกษากันมาและมีความเข้าใจกันพอสมควรแล้ว แต่ก็เป็นไปในลักษณะตามแบบ คือ เข้าใจและจำได้ตามแบบเท่านั้น เมื่อ คิดแต่งเองโดยที่ไม่เคยเห็นแบบมาก่อน ย่อมจะมีความลำบากพอสมควรเพราะจะต้องตีความให้แตก แยกประเด็นเนื้อความให้ออกก่อน ว่าตอนใดควรจะแต่งรูปประโยค ย ต ตอนใดไม่ควร เพราะไม่จำเป็น ดังนั้น จึงแยกมากล่าวไว้โดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง

          ขอให้นักศึกษาพลิกกลับไปทบทวนเรื่องสังกรประโยค ทั้งในภาษามคธและในภาษาไทยที่แสดงไว้แล้วในบทต้นๆ ให้เข้าใจให้ดีก่อน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจในเรื่องการปรุงประโยค ย ต ตรงกัน กล่าวคือ ประโยค ย ต หรือสังกรประโยคนี้ ประกอบด้วยส่วนของประโยค ๒ ประโยค คือ ประโยค ย เรียกว่าอนุประโยค หรือประโยคย่อย ทำหน้าที่ขยายความ คล้ายกับเป็นวิเสสนะของบทที่ตนขยาย และประโยค ต เรียกว่า มุขยประโยค หรือประโยคใหญ่ ทำหน้าที่เป็นประโยคประธาน ในการตีความและปรุงแต่งให้เป็นประโยค ย ต ต้องอาศัยความชำนาญ และความเข้าใจในภาษาไทยและภาษามคธรวมกัน ซึ่งก็แล้วแต่ความที่กำหนดให้แต่งด้วย นักศึกษาพึงยึดหลักเบื้องต้น ดังนี้

          ๑. กรณีที่สำนวนไทยมีเนื้อความที่ยาว และสับสนวกวน และมีบทขยายความมาก นิยมแต่งเป็นประโยค ย ต เพื่อแยกประโยคให้ ชัดเจนขึ้น

          ๒. เนื้อความตอนใดบ่งว่าขยายเนื้อความตอนอื่น ให้แต่งเนื้อ ความตอนนั้นเป็น ประโยค ย ส่วนเนื้อความตอนอื่นให้แต่งเป็น ประโยค ต

          ๓. กรณีที่แต่งประโยค ย ซ้อนกันในประโยคเดียว คือ มี ย สองตัว ในประโยค ต ก็จะต้องมี ต ซ้อนกันสองตัว เพื่อให้รับกับ ย และต้องวางศัพท์ให้ถูกตำแหน่ง กล่าวคือ ย ตัวแรกกับ ย ตัวหลัง หมายถึงอะไร และ           วางอยู่ในตำแหน่งใด ต ตัวแรกก็ต้องวางไวใน ตำแหน่ง ย ตัวแรก และ ต ตัวหลัง ก็ต้องวางไว้ในตำแหน่ง ย ตัวหลัง เพื่อให้รับกันโดยไม่สับสน หากวางสลับที่กัน อาจทำให้สับสน ไม่สามารถ รู้ได้ว่า ย ต ตัวไหนจับคู่กัน ในกรณีนี้มีตัวอย่างเช่น

: อนฺนปานเภสชฺเชสุ โย ยํ อิจฺฉติ, ตสฺส ตํ ยถิจฺฉิตเมว สมฺปชฺชติ ฯ 

          ๔. ในกรณีที่ใช้ประโยค ย ต บ่งถึงกาล คือ ยทา ตทา กิริยาคุม พากย์ ในประโยค ยทา นิยมประกอบเป็นวิภัตติหมวดวัตตมานา แสดง ความเป็นปัจจุบัน แม้เนื้อความตอนนั้นจะระบุว่าเป็นอดีตหรืออนาคต ก็ตาม เพราะเนื้อความในประโยค ยทา นั้นเกิดขึ้นหรือเป็นไปพร้อมกับเนื้อความในประโยค ตทา ที่ตนขยาย แต่ในประโยค ตทา กิริยาจะเป็นกาลอะไร ย่อมแล้วแต่เนื้อความเป็นสำคัญ เช่น

: ยทา หิ ภคาา มหาปรินิพพานมญฺจเก นิปชฺชติ, ตทา ทสสหสฺสจกฺกวาฬเทวตา อิมสฺมึ จกฺกาาเฬ สนฺนิปติตฺวา ทิพฺพมาลาทีหิ ภควนฺตํ ปูเชสุํ ฯ (มงฺคล. ๑/๘๘)

          ๕. เนื่องจากประโยค ย ต มีประโยชน์สำหรับขยายเนื้อความ ให้มากขึ้นก็ได้ ย่อเนื้อความให้สั้นกระทัดรัดลงก็ได้และทำเนื้อความที่สับสนให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงสามารถปรุงประโยค ย ต ได้เกือบจะทุกตอนของเนื้อความ แต่ความนิยมทางภาษามคธที่ท่านแต่งไว้ในปกรณ์ต่างๆ สามารถเห็นเป็นข้อสังเกตได้ว่า ท่านพิถีพิถันในการใช้ประโยค ย ต มาก จะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นและต้องการจะเน้นเนื้อหาตอนนั้นเท่านั้น ท่านไม่นิยมแต่งประโยค ย ต พรํ่าเพรื่อซํ้าซ้อนจน ดูเฝือไป แม้ว่าเนื้อความตอนนั้น จะสามารถแต่งเป็นประโยค ย ต ได้ก็ตาม เมื่อหลีกเลี่ยงได้ ท่านก็หลีกเลี่ยง แต่งให้เป็นวิเสสนะธรรมดาเสีย จึงทําให้สำนวนมคธที่ท่านแต่งไว้สละสลวย ไม่รุงรังด้วย ย ต และประโยคก็กระทัดรัด ไม่ยืดยาวโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้น จึงควรยึดถือแบบของท่านไว้เป็นเกณฑ์ ไม่ควรแต่งประโยค ย ต โดยไม่จำเป็น เช่น

ไทย

: ภิกษุผู้มีศีลรูปนั้นกำลังเดินมา ฯ

มคธ

: โย ภิกฺขุ สีลวา โหติ, โส อาคจฺฉติ ฯ (ไม่จำเป็น)

เป็น

: โส สีลวา ภิกฺขุ อาคจฺฉติ ฯ (เท่านี้ก็พอแล้ว)

 

          แต่ในกรณีที่ต้องการจะเน้นความ แม้ประโยคจะสั้น ก็สามารถแต่งได้ เช่น

ไทย

: ภิกษุผู้มีศีล ย่อมสมควรได้รับการยกย่องนับถือ ฯ

มคธ

: โย ภิกฺขุ สีลวา โหติ, โส สมฺมานนํ อรหติ ฯ

 

   (ต้องการเน้นเฉพาะภิกษุผู้มีศีลเท่านั้น)

 หรือ

: สีลวา ภิกฺขุ สมฺมานนํ อรหติ ฯ

 

   (แค่นี้ก็ใช้ได้ แต่ได้ความหมายว่า ภิกษุปกติทั่วๆ ไป)

 

          ในกรณีที่แต่งประโยค ย ต ซํ้าซ้อนสับสนและเข้าใจยาก มีตัวอย่างที่พึงพิจารณา ดังนี้

: เยหิ ชมฺพุวาสิโน วิเทเสสุ วณิชฺชายตฺถาย วา นิวาสนสฺสตฺถาย วา จาริกํ วิจรึสุ, เตสุ โย โกจิ, ยํ สาสนํ สกฺกโรติ ครุกโรติ มาเนติ ปูเชติ, ตเทวาทาย สยเมว ปฏิปชฺชติ, ตสฺมิญฺจ ตํ ตํ รฏฺฐวาสิโน สมาทเปตฺวา อนุวตฺตาเปสิ ฯ

: ยงกิญฺจิ หิ รญฺโญ มงฺคลาวมงฺคลกรณํ ราชพิธีติ ทยฺยภาสาย สญฺชานิตํ, สพฺพนฺตํ เยภุยฺเยน ยสฺมา จิโต ปุพฺเพ อิมสฺมึ สฺยามรฏฺเฐ ขตฺติยา เจว ราชาโน รฏฺฐวาสี จ พฺราหฺมณลทฺธึ สกฺกรึสุ ครุกรึสุ มาเนสุํ ปูเชสุํ ยทา ปน พุทฺธสาสนํ อิมิสฺสํ สุวณฺณภูมิยํ สฺยามรฏฐํ ปากฏํ อโหสิ, ตทา ตเทว สกฺกโรนฺติ ครุกโรนฺติ มาเนนฺติ ปูเชนฺติ, ตสฺมา พุทฺธสาสนสฺส เจว พฺราหฺมณลทฺธิยา จ นิยาเมน สมฺมิสฺสกํเยว การิตํ ฯ

          ความจริงการปรุงประโยค ย ต นี้ไม่สู้จะยุ่งยากและซับซ้อนมากนัก เพียงให้รู้ความนิยมทางภาษาโดยศึกษาจากตัวอย่างในปกรณ์ ที่เป็นที่ยอมรับกันมาแต่โบราณเท่านั้น ก็สามารถแต่งตามได้โดยไม่ยาก

          ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า ไม่พึงแต่งประโยค ย ต พรํ่าเพรื่อซํ้าซ้อนจนเกินความจำเป็น จนประโยคภาษามคธไม่สละสลวย เพราะจะรุงรังด้วย ย ต เท่านั้น และประโยค ย ต ที่แต่งซํ้าซ้อนและบ่อยจนเกินไปนั้น อาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยากในการแปล และการทำความเข้าใจเสียด้วยซํ้าไป นักศึกษาจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงโทษในข้อนี้ด้วย

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search