8.หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 8)

 

หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 8)

 

ประโยค หิ นาม

           “ประโยค หิ นาม” หรือที่โบราณเรียกชื่อเต็มว่า “ประโยค ภวิสสันติ หิ นาม” ถือว่าเป็นประโยคพิเศษในภาษามคธ เพราะมีลักษณะการปรุงประโยคผิดไปจากประโยคทั่วไป กล่าวคือ ประโยคที่มี หิ นาม วางไว้ต้นประโยค นิยมปรุงกิริยาคุมพากย์ในประโยคนั้นเป็น รูปภวิสสันติวิภัตติ แม้ว่าเนื้อความจะไม่บ่งบอกว่าเป็นอนาคต แต่เวลาแปลจะต้องแปลเป็นอดีต คือแปลเป็นอัชชัตตนวิภัตติ

          ประโยค หิ นาม จึงถือว่าเป็นประโยคพิเศษในภาษามคธที่น่าจะต้องศึกษาให้รู้ เมื่อเห็นรูปประโยคแบบนี้เข้าจะได้แปลได้ถูกและได้ใจความตามที่ต้องการ ประโยค หิ นาม นี้ มีที่ใช้มากในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะในพระวินัยปิฎก แม้ในปกรณ์อื่นๆ ก็มีใช้ทั่วไป ตัวอย่างเช่น

: กถํ หิ นาม อายสฺมา ธนิโย กมฺมารปุตฺโต รญฺโญ ทารูนิ อทินฺนํ อาทิยิสฺสติ ฯ (วิ.มหา. ๑/ ๘๓/ ๘๒)

 : ปณฺฑิโต ภิกฺขเว อานนฺโท มหาปญฺโญ ภิกฺขเว อานนฺโท ยตฺร หิ นาม มยา สงฺขิตฺเตน ภาสิตสฺส วิตฺถาเรน อตฺถํ อาชานิสฺสติ ฯ (มฺงคล. ๑/ ๑๓๐/ ๑๕๐)

: เตสํ หิ นาม ภิกฺขเว ราชูนํ อาทินฺนทณฺฑานํ อาทินฺนสตฺถานํ เอวรูปํ ขนฺติโสรจฺจํ ภวิสฺสติ (๑/๕๔)

 

          ประโยค หิ นาม ที่ไม่เป็นไปตามความนิยมนี้ คือมีกิริยาเป็น อัชชัตตนีวิภัตติตามปกติ เท่าที่เห็นมีเพียง ๒ ที่เท่านั้น และเป็นข้อความเดียวกัน คือ

: สตฺถาปิ เอวํ อตีตํ อาหริตฺวา ภิกฺขู โอวทนฺโต เต หิ นาม ภิกฺขเว ติรจฺฉานคตา อญฺญมญฺญํ สคารวา สปฺปติสฺสา วิหรึสุ ฯ

(อรรถกถาชาดก เอกนิบาต และ มงฺคล. ๒/ ๒๘๔/ ๒๑๕)

 

          เพาะฉะนั้น ขอให้นักศึกษาผู้จะแต่งไทยเป็นภาษามคธ โดยใช้ ประโยค หิ นาม พึงถือเอาความนิยมที่เป็นไปโดยมากเป็นดีที่สุด ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นภูมิปัญญาของผู้แต่ง ว่าเข้าถึงหลักภาษามคธ อย่างไรแค่ไหน

 

 

ประโยค เจ สเจ ยทิ

          ประโยค เจ สเจ ยทิ ในภาษามคธ มีใช้มากในปกรณ์ทั้งหลาย และมีวิธีการปรุงประโยคเฉพาะตัวแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นนักศึกษาพึงทราบวิธีการปรุงประโยคแบบนี้ตามสมควร เพื่อจะได้สามารถปรุง ประโยคแบบนี้ได้ดี สละสลวย ถูกความนิยมทางภาษา เพราะหากปรุงไม่ถูกแบบความนิยมแล้ว จะทำให้ประโยคภาษามคธนั้นรุงรัง ไม่สละสลวย และบางกรณีไม่ถูกหลักด้วย

          จริงอยู่ แม้นักศึกษาจะเคยผ่านประสบการณ์เรื่องการเรียงประโยคแบบนี้มาบ้างแล้วในชั้นต้นๆ แต่ก็แต่งไปตามสำนวนที่มีเนื้อความ เป็นประโยค เจ สเจ ยทิ ตามแบบที่มีอยู่ สำหรับในชั้นนี้มิได้เป็นอย่างนั้น คือนักศึกษาจะต้องกำหนดเอาเองว่า ข้อความตอนใดควรปรุงเป็น ประโยค เจ สเจ ยทิ ข้อความตอนใดไม่ต้อง จะกำหนดเอาจากความภาษาไทยที่มีคำปริกัปว่า “ถ้า, ถ้าว่า” แล้วปรุงเป็นประโยค เจ สเจ ยทิ ไปทั้งหมดเห็นจะไม่ได้ เพราะคำว่า “ถ้า” ในภาษาไทยนั้นไม่ตรงกับคำปริกัปในภาษามคธว่า เจ สเจ หรือ ยทิ เสมอไป

          เช่น สำนวนไทยว่า “คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่มี ประโยชน์มาก ถ้าประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมได้รับความเจริญก้าวหน้า โดยส่วนเดียว” ในสำนวนนี้คำว่า “ถ้า” ดูจะไม่จำเป็นที่จะต้องแต่งตาม แม้จะตัดออกก็ยังได้ใจความเท่าเดิมอยู่

 

ประโยค เจ สเจ ยทิ

          ๑. เจ สเจ ยทิ เป็นนิบาตบอกปริกัป คือบอกกำหนดเงื่อนไข ของเนื้อความในประโยค หมายความว่าเนื้อความตอนใดมีเงื่อนไข คล้ายเป็นเหตุเป็นผลกันและกัน เช่นว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะมีผลอย่างนั้น หรือถ้าทำอย่างนั้นจะมีอย่างนี้ตามมา เนื้อความตอนนั้นจะต้องปรุงความมคธด้วยประโยค เจ สเจ ยทิ

          ๒. ประโยค เจ สเจ ยทิ จะต้องมีสองประโยคติดต่อกัน คือ ความตอนแรกที่เป็นเงื่อนไข ปรุงเป็นประโยค เจ สเจ ยทิ ความตอนหลังที่เป็นผล ปรุงเป็นประโยคปกติ เวลาแปลในประโยคเงื่อนไขจะ แปลว่า “ถ้า (ถ้าว่า).....ไซร้” ส่วนประโยคหลังก็แล้วแต่ความ

          ๓. ถ้าปรุงประโยคด้วย เจ จะต้องวาง เจ ไว้เป็นที่สองของ ประโยค จะวางไว้ต้นประโยคไม่ได้ ตามหลักการเรียงนิบาต

          ๔. ถ้าปรุงประโยคด้วย สเจ หรือ ยทิ ต้องวาง สเจ หรือ ยทิ ไว้ต้นประโยค จะวางไว้เป็นที่สองไม่ได้ ตามหลักการเรียงนิบาต เช่นกัน

          ๕. กิริยาที่ใช้กับประโยค เจ สเจ ยทิ ตามปกติประกอบด้วย สัตตมีวิภัตติ หรือ วัตตมานาวิภัตติ ในกรณีใดปรุงด้วยวิภัตติอะไรนั้น ไม่มีกำหนดแน่นอน แต่พอจะสังเกตความนิยมที่ท่านใช้ในปกรณ์ทั้งหลายได้ว่า

- ถ้าเงื่อนไขที่กล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องจริง อาจเป็นจริง เป็นไปได้ หรือมีเนื้อหาบ่งความแน่นอน นิยมใช้กิริยาที่เป็นวัตตมานาวิภัตติ

- ถ้าเงื่อนไขที่กล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แน่ใจ ไม่แน่นอน หรือ เรื่องที่ตั้งสมมติฐานเอาว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้จะเกิด ขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เกิดอย่างนั้นก็ได้ ข้อความเช่นนี้ นิยมใช้ กิริยาที่เป็นสัตตมีวิภัตติ

          ๖. ประโยค เจ สเจ ยทิ นี้ ทำหน้าที่เหมือนประโยคแทรก ที่แทรกไว้ได้ทุกที่ แล้วแต่ข้อความในภาษาไทย มีข้อกำหนดเพียงอย่างเดียว คือวางไว้หน้าประโยคที่เป็นผลของเงื่อนไขของตนเท่านั้น ถ้าเนื้อความเงื่อนไขอยู่กลางประโยคที่เป็นผล ก็วางแทรกตรงกลางประโยคนั้นได้เลย เพื่อความชัดเจน พึงดูประโยคต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง

: สเจ อคารํ อชฺฌาวสติ, ราชา โหติ จกฺกวตฺติ ธมฺมิโก มหาราชา จาตุรนฺโต วิชิตาวี ฯเปฯ; สเจ โข ปน อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชติ, อรหํ โหติ สมฺมาสมฺพุทฺโธ โลเก วิวฏจฺเฉโท ฯ (ไตร. ๑๑/ ๑๓๐/ ๑๕๗)

: เตสํ เอตทโหสิ “สเจ ราชา อตฺตโน อธิการํ อนวเสสํ ปสฺเสยฺย, อติวิย พุทฺธสาสเน ปสีเทยฺยาติ ตโต โลกวิวรณํ นาม ปาฏิหาริยํ อกํสุ ฯ (สมนฺต. ๑/๔๙)

: ยทิ หิ ตํ เอทิสํ ภเวยฺย, จกฺขุวิญฺเญยฺยํ สิยา โอฬาริกํ สมฺมสนุปคํ ติลกฺขณพฺภาหตํ ฯ (วิสุทฺธิ. ๑/๑๕๘)

: ตสฺเสว ฆฏยโต วายมโต, สเจ ตํ ปฏิฆํ วูปสมฺมติ, อิจฺเจตํ กุสลํ ; โน เจ วูปสมฺมติ, อถ โย โย ธมฺโม ตสฺส ปุคฺคลสฺส อุปสนฺโต โหติ ฯเปฯ ตํ ตํ อนุสฺสริตฺวา อาฆาโต ปฏิวิเนตพฺโพ ฯ (วิสุทฺธิ ๒/๙๗)

: เอวมาทโย คิลานา โหนฺติ, ญาตกา เจ, เตสมฺปิ กาตุํ วฏฺฏติ; อญฺญาตกา เจ, ภาตุอาทีนํ กตฺวา ทาตพฺพํ ฯ (มงฺคล. ๑/๑๙๐)

 

          ข้อสังเกตในเรื่องการแต่งประโยค เจ สเจ ยทิ นี้ คือพึงระวังและพิถีพิถันในการใช้ให้มาก ในกรณีใดควรใช้ ในกรณีใดไม่ควรใช้ และในกรณีใดใช้ไม่ได้ เพราะไม่ถูกความนิยม พึงใช้ให้ถูกความนิยม ซึ่งในที่นี้ขอให้พิจารณาจากตัวอย่างต่อไปนี้

ไทย

: พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ถ้าผู้ใด

 

   ประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมได้รับความเจริญก้าวหน้า

 

   โดยส่วนเดียว

มคธ

: พุทฺธสาสนํ จ นาม พหุปการํ โหติ, สเจ โย ตํ อนุจรติ,

 

   โส เอกนฺเตน วุฑฺฒึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลญฺจ ปาปุณาติ ฯ

 

          ข้อสังเกต ประโยคนี้แม้ไม่มี สเจ ก็สามารถคุมเนื้อความได้ และประโยค ย ต ถือว่าเป็นประโยคเดียวกัน เรียกว่าสังกรประโยค เพราะฉะนั้นเวลาแปลจะต้องแปลให้จบประโยค ย ต เสียก่อน แล้วจึง ลงคำว่า “ไซร้” เมื่อเป็นดังนี้ ประโยค สเจ ข้างต้นก็กลายเป็นสำนวน ที่มีประโยคเดียว คือประโยคเงื่อนไข ส่วนประโยคผลไม่มี และความจริงประโยค ย ต นั่นเอง ก็มีเนื้อความเป็นประโยคเงื่อนไขและประโยคผลในตัวอยู่แล้ว ประโยคนี้ถ้าตัด สเจ ออกศัพท์เดียวก็จะสมบูรณ์ทั้งคำและความ

ไทย

: ก็ถ้าเรามีเมตตาแล้ว จำเป็นที่ทางราชการซึ่งเป็นผู้ที่มี

 

   ความรู้มากกว่า เป็นผู้มีฐานะดีกว่า ควรจะไปช่วย ฯ

มคธ

: สเจ ปน เมตฺตาทิยเกสุ, เย ราชกิจฺจกรา พหุตรมนฺตี

 

   เจว อเหสุํ ฐาตุตฺตรา จ, เตเหว เตสํ ชนปทวาสีนํ

 

  สงฺคโห กาตพฺโพ ฯ

 

          ข้อสังเกต ประโยคนี้ก็เหมือนกับประโยคต้น คือ ประโยค สเจ ลอยอยู่ประโยคเดียว ไม่มีความอื่นเข้ามารับ ประโยค ย ต นั้น ความก็แยกอธิบายไปต่างหาก ถือว่าประโยคไม่สมบูรณ์

ไทย

: ถ้าสร้างเมืองหลวงของประเทศไว้ที่ฝั่งนํ้าด้าน

 

  ตะวันออก จะได้ลำแม่นํ้าลึก เป็นคูรอบ

 

  พระนครสามด้าน ฯ

มคธ

: สเจ ปุริมทิสาภาเค นทีปาเร รฏฺฐสฺส ราชธานึ กเรยฺยุํ,

 

  สา ปเนสา ราชธานี ตีหิ ปสฺเสหิ

 

  คมฺภีรมหานทีปริขาภูตา โหติ ฯ

 

          ข้อสังเกต ประโยคนี้แม้จะได้ลักษณะประโยค สเจ แต่ก็ในประโยคหลังที่เป็นประโยครับหรือประโยคผล มีนิบาตต้นข้อความ คือ ปน อยู่ด้วย ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นที่นิยมเพราะประโยคอย่างนี้เป็นสังกรประโยค มีนิบาต คือ สเจ เชื่อมความอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่นิบาตเชื่อมข้อความอื่นเข้ามาอีก

          กล่าวโดยสรุปก็ คือ ขอให้นักศึกษาพิจารณาดูความนิยมตามที่ กล่าวมานี้แล้วไปสังเกตดูประโยคแบบนี้ที่ท่านใช้ในปกรณ์ต่างๆ เทียบเคียง ก็จะได้เพิ่มความรู้และความมั่นใจในการปรุงประโยคเช่นนี้มากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search