5.หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 5)

 

หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 5)

 

๔. การตัดความ

          สำนวนภาษาไทยที่กำหนดให้แต่งนั้น ในบางตอนอาจมีข้อความ ที่สลับซับซ้อนวกวนบ้าง มีข้อความที่เยิ่นเย้อซํ้าซํ้ากบ้าง มีข้อความที่ซํ้ากับข้อความข้างหน้าบ้าง ถือว่ามีข้อความที่เกินความจำเป็น หากแต่งตามสำนวนภาษาไทยนั้น ก็จะทำให้เยิ่นเย้อและยาวไปโดยไม่ได้สาระอะไรเพิ่มมากนัก ในกรณีอย่างนี้ให้พิจารณาตัดใจความที่เกินไปนั้นออกเสีย เหลือไว้แต่ใจความที่สำคัญและจำเป็น ซึ่งเมื่อขาดไปแล้วจะไม่ทำให้เสียความเท่านั้นก็พอ เช่นข้อความว่า

          “ในเวลาที่พระอาทิตย์อัสดงเย็นวันนี้ ขอให้ท่านจัดข้าวปลาอาหารสำหรับรับประทานให้พร้อมมูลเข้าไว้”

          ข้อความอย่างนี้แม้จะฟังดูไพเราะแต่ก็ซํ้าซาก หากแต่งเป็นภาษามคธไปตามข้อความนี้ จะดูเป็นสำนวน “บาลี-ไทย” ไป ข้อความนี้ อาจตัดให้กระทัดรัดเหลือเพียงว่า “ในตอนเย็นนี้ ขอให้ท่าจัดอาหาร ไว้ให้พร้อมมูล” ก็พอแล้ว เมื่อแต่งเป็นสำนวนมคธก็จะได้ประโยคภาษามคธที่กระทัดรัดและได้ความชัดเจนว่า

: อชฺช สายํ อาหารํ สมฺปาเทหิ ฯ   หรือว่า

: อชฺช สายณฺเห โภชนํ สมฺปาเทหิ ฯ

          ดังนั้น เพื่อความเข้าใจในเรื่องตัดความ นักศึกษาพึงทราบความนิยมทางภาษาเกี่ยวกับการตัดความ ดังนี้

           ๑. ข้อความภาษาไทยที่สับหน้าสับหลัง วกไปวกมานิยมจับ ประเด็นใจความที่เกี่ยวเนื่องกันเข้ามาไว้เป็นตอนเดียวกัน และตัดแต่ง สำนวนใหม่ให้กระทัดรัด และให้คงความเดิมไว้ให้มากที่สุด

          ๒. ข้อความภาษาไทยซํ้ากันตั้งแต่สองประโยคขึ้นไป นิยมแต่ง ความเต็มไว้เพียงประโยคเดียวหรือสองประโยค ส่วนความที่เหลือตัดให้เหลือเฉพาะข้อความที่ไม่ซํ้ากับประโยคข้างต้นเท่านั้น แต่ไม่นิยมตัดให้เหลือเพียงศัพท์เดียวในประโยคที่ไม่เต็ม

          ๓. ข้อความภาษาไทยที่มีความยาว แม้จะมีความสัมพันธ์เนื่องกัน ก็นิยมตัดตอนประโยคให้สั้นหรือเล็กลง โดยมีกิริยาคุมพากย์เป็นระยะๆ และไม่ต้องขึ้นบทประธานเข้ามาใหม่ ใช้สรรพนามแทนหรือเว้นไว้ในฐานที่เข้าใจก็ได้ แต่ควรพิจารณาให้ดีว่า จะตัดข้อความที่ตรงไหน จึงจะเหมาะสม มีใช่ซอยประโยคจนสั้นทุกประโยคไป

          ๔. ก่อนจะตัดและต่อ ต้องพิจารณาแยกแยะประโยคให้ถี่ถ้วนก่อน โดยเฉพาะพึงตีความออกมาให้เห็นแจ่มแจ้งเสียก่อน โดยใช้หลักวิชาทาง ภาษาไทยที่กล่าวไว้แล้ว ในเรื่องประโยคภาษาไทย ว่าประโยคจบแค่ไหน ความตอนใดเข้ากับความตอนใด หรือขยายความตอนใด ควรเป็นเอกรรถประโยค หรืออเนกรรถประโยค หรือสังกรประโยค

          ๕. การต่อประโยค นิยมเชื่อมความให้เนื่องกันด้วยศัพท์นิทธารณะ นิทธารณียะบ้าง ด้วยนิบาตบ้าง เพื่อให้เกิดความสละสลวยทางภาษา

          อนึ่ง ในเรื่องการตัดความนี้ มีข้อที่ต้องคำนึงอยู่ คือ เนื้อความ ที่เหลือจากที่ตัดแล้วจะต้องมีใจความสมบูรณ์ และจะต้องต่อกับความ อื่นในประโยคเดียวกัน หรือระหว่างประโยคได้สนิทและเนื่องกันด้วย มิใช่ ตัดและต่อแล้วมีใจความไม่ต่อเนื่องกัน เข้ากันไม่ได้กับความอื่นและ ประโยคอื่น จึงต้องใช้วิจารณญาณและความฉลาดในภาษาเป็นอย่างมาก จึงจะสามารถตัดต่อความอย่างนี้ได้ เพื่อความเข้าใจชัดยิ่งขึ้น ขอให้ศึกษาจากตัวอย่างต่อไปนี้

ไทย

: ความดำรงทรงตัวอยู่ได้ของพระบวรพุทธศาสนาก็ดี           

 

  ความแพร่หลายขยายตัว ของพระบวรพุทธศาสนา

 

  ก็ดี ความสืบต่อมาได้ไม่ขาดสายแห่งพระบวรพุทธ-  

 

  ศาสนาก็ดี เมื่อได้ระลึกถึงความเป็นมาโดยลำดับ

 

  ตามกาลเวลาอันยาวนานแล้ว จะเป็นมูลเหตุประการ

 

  หนึ่ง ที่ชวนให้เกิดความปลื้มปีติอย่างเอิบอาบ

 

  ซาบซ่านยิ่ง ของมวลพุทธบริษัทในยุคปัจจุบัน

 

  ในการที่ ได้มีโอกาสรองรับพุทธมรดก คือ

 

  ศาสนธรรมที่ตกทอดมาสู่อุ้งมือของตนๆ นับเป็นบุญ

 

  กุศลอย่างวิเศษยิ่ง ฯ

มคธ

: ธมฺมวินยสฺส ปน สณฺฐปนํ วิตฺถรณํ สตตปฺปวตฺตนญฺจ

 

  ปวตฺตมานกาเล พุทฺธปริสาย อนุปุพฺเพน

 

  อนุสฺสริยมานํ ตสฺสาเยว ปีติปาโมชฺชํ วฑฺเฒติ,

 

  ตสฺส อจฺเฉชฺชทายชฺเชนสฺสา หตฺถาคตตฺตา ฯ

 

  อิจฺเจตมิธ อนุตฺตรํ ว กุสลํ ฯ

 

(สนามหลวง ๒๕๑๐)

ไทย

: แต่ปางหลัง ครั้งบรมขัตติยาธิบดีมีพระนามาภิไธยว่า

 

  พรหมทัต เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครองพระนคร

 

  พาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกระบี่ ถึงความ

 

  เจริญวัยแล้ว คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญการโดดไปมา มี

 

  กำลังวังชาสมบูรณ์ยิ่งนัก ประมาณกว่า ๕ กำลังคชสาร

 

 มีหมู่กระบี่เป็นบริวารถึง ๘๐,๐๐๐ อยู่อาศัยในหิมวันตประเทศฯ

มคธ

: อตีเต กิร พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต รชฺชํ กาเรนฺเต

 

  โพธิสตฺโต กปิโยนิยํ นิพฺพตฺติ ฯ โส หิ วยปฺปตฺโต

 

  ลงฺฆนาลงฺฆณปคุโณ ปญฺจหตฺถิพลาติพลูเปโต

 

  อสีติกปิสหสฺสปริวาโร หิมวนฺเต วสิ ฯ

 

(สนามหลวง ๒๕๑๑)

ไทย

: การสืบอายุพระศาสนาตามที่พุทธบริษัทได้ถือเป็นปฏิบัติ สืบๆ

 

  มา นับตั้งแต่ครั้งพุทธกาลเป็นต้นเติม จวบจนกระทั่งถึง

 

  ปัจจุบันกาล คงย่นย่อพอถือเป็นหลักใหญ่ได้ ๒ ประเภท

 

  ด้วยกัน กล่าวคือ หลักที่เกี่ยวกับบุคคล ประเภท ๑

 

  หลักที่เกี่ยวกับวัตถุประเภท ๑ เรียกสั้นๆ ว่า

 

  หลักบุคคลกับหลักวัตถุ

มคธ

: ยญฺจ ปรมฺปราภรณํ พุทฺธกาลโต ปฏฺฐาย

 

  ยาวชฺชตนา ปฏิปชฺชิตํ, ตํ ทุวิธํ โหติ ปุคฺคลปริยาปนฺนํ

 

  วตฺถุปริยาปนฺนญฺจาติ ฯ สงฺขิตฺเตน ปุคฺคลวตฺถุอาภรณํ ฯ

 

(สนามหลวง ๒๕๑๐)

                                                                                                                                 

          เนื่องจากวิธีการแต่งไทยเป็นมคธมีกระบวนการมากมายหลาย อย่าง มีความละเอียดลึกซึ้งไม่น้อย ไม่อาจแสดงให้แจ่มแจ้งชัดเจนได้ด้วยข้อเขียนเพียงเท่านี้ แต่ที่แสดงไว้นั้นเป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นข้อสังเกตบ้าง เป็นหลักบ้าง และเป็นตัวอย่างที่ท่านแต่งไว้ให้ดูเป็นแนวทางบ้าง นักศึกษาผู้ต้องการความชำนิชำนาญในกระบวนการแต่งไทยเป็นมคธ นอกจากศึกษาแนวทางจากที่นำมาแสดงไว้นี้แล้ว พึงศึกษาและสังเกตจากปกรณ์ต่างๆ ที่ท่านแต่งไว้แต่โบราณกาลมา ด้วยว่าสำนวนภาษามคธ ที่ท่านใช้ในปกรณ์นั้นๆ มีหลากหลายแบบ ซึ่งเป็นตัวอย่างได้อย่างดี โดยเฉพาะปกรณ์ที่น่านับถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ “วิสุทธิมรรค” ซึ่ง ว่ากันว่าเป็นหนังสือที่มีลีลาการแต่งระดับสุดยอด หาที่ติได้ยาก ได้ทั้งธรรมรส ได้ทั้งอรรถรสทางวรรณคดี นักศึกษาพึงสังเกตและจดจำลีลาการแต่งของท่านมาใช้ให้เป็นประโยชน์เถิด จะทำให้เกิดวลีภาพในกระบวนการแต่งไทยเป็นมคธขึ้นเรื่อยๆ

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search