2.หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 2)

 

หลักการแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙ (ตอนที่ 2)

 

ประโยค

          ประโยค คือ กลุ่มคำที่มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกันเป็นระเบียบและ มีความสมบูรณ์ในตัว  ประโยคในภาษาไทยกับประโยคในภาษามคธมีหลายลักษณะและหลายชนิดเช่นเดียวกัน เพื่อความแตกฉานและเพื่อเทียบเคียงกัน จักแสดงลักษณะประโยคในภาษาไทยไว้พอสังเขป และจะยกตัวอย่างประโยคภาษามคธคู่กันไปกับประโยคภาษาไทย

 

ชนิดของประโยค

          ประโยคในภาษาไทยแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๓ ชนิด เช่นเดียวกันกับประโยคในภาษามคธ คือ

๑. เอกรรถประโยค

๒. อเนกรรถประโยค

๓. สังกรประโยค

 

๑. เอกรรถประโยค

          เอกรรถประโยค คือ ประโยคสามัญทั่วไป ซึ่งมีเนื้อความจบสมบูรณ์ในตอนเดียว ประโยคอาจสั้นหรือยาวก็ได้แล้วแต่เนื้อความ แต่ในประโยคนั้นจะต้องมีบทประธานและบทกิริยาอยู่ด้วย  ในกรณีที่กิริยา เป็นสกรรมธาตุต้องมีบทกรรมเพิ่มเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง ประโยคจึงจะสมบูรณ์ เช่น

ไทย

: พระเถระเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

มคธ

: เถโร คามํ ปิณฺฑาย ปาวิสิ ฯ

ไทย

: พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งนำสุขมาให้แก่โลก

มคธ

: พุทฺธสฺส สฺวากฺขาตธมฺโม โลกานํ สุขาวโห โหติ ฯ

 

๒. อเนกรรถประโยค

          อเนกรรถประโยค คือ ประโยคใหญ่ที่มีเนื้อความต่อเนื่องสัมพันธ์กันหลายๆ ตอน แต่ละตอนนั้นจะมีลักษณะเป็นประโยคเช่นเดียวกัน โดยมีบทเชื่อม หรือละบทเชื่อมไวในฐานที่เข้าใจ ประโยคแบบนี้คล้ายกับเป็นประโยคพวง คือ ลำพังตนเองประโยคเดียวไม่อาจจะให้ความหมายสมบูรณ์นัก จะต้องมีอีกประโยคหนึ่งมาเชื่อมต่อด้วย จึงจะได้ความสมบูรณ์โดยแท้จริง

          คำที่นำมาเชื่อมนั้นเรียกว่า “สันธาน” ได้แก่คำว่า และ กับ ถ้า ถ้าว่า จึง แต่ ถึงกระนั้น เป็นต้น ตรงกับคำว่า “นิบาตต้นข้อความ” ในภาษามคธ คือ หิ จ ปน สเจ เจ ยทิ กิญฺจาปิ เป็นต้น

 

          อเนกรรถประโยค จำแนกออกเป็น ๔ ชนิด คือ

 

๑. อันวยาเนกรรถประโยค

          คือ อเนกรรถประโยค ที่มีเนื้อความตามกัน หมายถึงเนื้อความ ของประโยคหน้ากับประโยคหลังที่นำมาเชื่อมกันโดยสันธานนั้น คล้อยตามกัน เป็นไปในแนวเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน โดยมีนิบาต คือ ก็ และ กับ ถ้า ถ้าว่า เป็นต้น เป็นบทเชื่อม เช่น

  • - เขามีงานทำ ผมก็มีงานทำ
  • - นักกีฬาและนักมวยต้องซ้อมหนักก่อนแข่งขันเสมอ
  • - ถ้าท่านไม่หนักใจ ผมจะขออยู่ในที่นี้สักสองสามวัน

          เพื่อความขัดเจนยิ่งขึ้น พึงสังเกตดูตัวอย่างเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

 

ไทย

: ท่านเป็นพระภิกษุ ผมก็เป็นพระภิกษุเหมือนกัน

มคธ

: ตฺวํ ภิกฺขุ, อหมฺปิ ภิกฺขุเยว ฯ

ไทย

: ก็เมื่อราตรีสว่างขึ้น ความที่ฝนหาย ดวงอาทิตย์ขึ้น

 

   และการคลอดลูกของนาง ได้มีในขณะเดียวกันทีเดียว

มคธ

: วิภายมานาย ปน รตฺติยา วลาหกวิคโม อรุณุคฺคมนญฺ

 

   ตสฺสา คพฺภวุฏฺฐานญฺ เอกกฺขเณเยว  อโหสิ ฯ

 

          ข้อสังเกต

          ประโยคมคธประโยคหลังนี้ดูรูปประโยคแล้วเหมือนกับเป็นเอกรรถประโยค เพราะมีข้อความตอนเดียวหรือมีกิริยาคุมพากย์ตัวเดียว แต่ความจริงแล้วมีเนื้อความเป็น ๓ ประโยครวมกัน แต่ท่านแต่งกิริยาไว้เพียงตัวเดียวละไว้ในฐานที่เข้าใจ ความตอนนี้บ่งว่าเป็น ๓ ประโยคโดยมี ศัพท์ ทำหน้าที่ควบประโยค และกิริยาที่ใช้เป็นเอกพจน์ ดังนั้น จึงถือว่าประโยคนี้เข้าลักษณะอันวยาเนกรรถประโยคได้

 

๒. พยติเรกาเนกรรถประโยค

          คือ อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความตรงข้ามกัน ขัดแย้งกัน มีสันธานว่า แต่ ถึง-ก็ กว่า-ก็ เป็นต้น เป็นตัวเชื่อมความ ส่วนในภาษามคธใช้นิบาต คือ ปน กิญฺจาปิ-ปน เป็นต้น เป็นตัวเชื่อมประโยค

          เช่น

- เขาทำงานที่ต่างจังหวัด แต่ผมทำงานที่กรุงเทพฯ นี่เอง

- กว่าจะสอบประโยค ๙ ได้ สมองก็แทบจะระเบิดออกมา

- ถึงเขาจะอ่อนแออย่างไร เขาก็ยังสู้เรียนจนสำเร็จได้

 

          เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น พึงสังเกตดูตัวอย่างเปรียบเทียบดัง ต่อไปนี้

 

ไทย

: เขาไปหาพระเถระที่วัด แต่ก็ไม่พบท่าน

มคธ

: โส เถรํ ทฏฺฐุํ อารามํ อคมาสิ, ตํ ปน น ปสฺสิ ฯ

ไทย

: ถึงกำลังนั้นจะให้สำเร็จกิจได้ ก็ยังมีข้อเสียอยู่

มคธ

: กิญฺจาปิ ตํ พลํ ยถิจฺฉิตํ กิจฺจํ สาเธติ, ตสฺส ปน โทโส อตฺถิเยว ฯ

 

๓. วิกัลปาเนกรรถประโยค

          คือ อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ประโยคชนิดนี้กล่าวเนื้อความไว้สองตอน แต่ต้องการเพียงตอนเดียว มีสันธานว่า หรือ ไม่เช่นนั้น มิฉะนั้น เป็นต้น เป็นตัวเชื่อมประโยค ส่วนในภาษามคธใช้นิบาตบอกคำถามคือ วา อุทาหุ อาทู เป็นตัวเชื่อม ประโยค เช่น

- เธออยากจะเป็นทหารตำรวจ หรืออยากจะเป็นอะไร

- เขาต้องมีปากกา หรือไม่ก็มีดินสอในกระเป๋าแน่ๆ

- ท่านมีย่ามแล้วหรือยัง

 

          เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น พึงสังเกตดูตัวอย่างเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

               

ไทย

: เธอจะทำงาน หรือจะนอนอยู่ตรงนี้กันแน่

มคธ

: กึ ตฺวํ กมฺมนฺตํ กาตุกาโมสิ, อุทาหุ อิธ นิปชฺชิตุกาโม ฯ

ไทย

: พระภิกษุรูปนั้นใช่ท่านสุนทโรหรือไม่

มคธ

: กึ โส สุนฺทโร นาม ภิกฺขุ โหติ, โน วา

 

๔. เหตวาเนกรรถประโยค

          คือ อเนกรรถประโยคที่มีเนื้อความท่อนหนึ่งเป็นเหตุ อีกท่อนหนึ่งเป็นผล มีสันธานว่า จึง เพราะ-จึง ฉะนั้น-จึง เพราะฉะนั้น-จึง เป็นบทเชื่อม เช่น

- เขาเป็นคนดี คนจึงสงสารเขามากในคราวนี้

- เพราะสามเณรสอบไล่ได้ จึงมีญาติโยมนำสักการะมามุทิตา

- เพราะพระเถระไปในที่นั้น ฉะนั้น เหตุการณ์จึงสงบลงได้ด้วยดี

          ในเหตวาเนกรรถประโยคในภาษาไทยนี้มีข้อแตกต่างจากภาษามคธอยู่ คือเนื้อความในประโยคภาษาไทยดังตัวอย่างข้างต้น จัดเป็นอเนกรรถประโยคในภาษาไทย แต่ในภาษามคธเนื้อความแบบนี้จัดเป็น เอกรรถประโยคก็ได้ เป็นสังกรประโยคก็ได้ กล่าวคือถ้าแต่งคำว่า “เพราะ เพราะ-จึง” เป็นต้น ด้วยศัพท์ที่ประกอบด้วย โต ตฺต ตา ปัจจัย หรือ ภาว ศัพท์ใว้ในประโยค ประโยคนั้นก็เป็นเพียงเอกรรถประโยคธรรมดา แต่ถ้าแต่งเป็นประโยค ย ต รับกันสองประโยค ก็เป็นสังกรประโยค

 

 

พึงดูตัวอย่าง ดังนี้

 

ไทย

: ท่านเป็นพระภิกษุที่มีศีล ผู้คนจึงเคารพท่านมาก

เอกรรถ

: โส เถโร เปสลภาเวน พหูหิ ชเนหิ ครุกโต โหติ มานิโต ฯ

สังกร

: ยสฺมา โส เถโร เปสโล โหติ,  ตสฺมา พหูหิ ชเนหิ

 

  ครุกโต โหติ มานิโต ฯ

ไทย

: เพราะที่นั้นได้ลักษณะของสีมาถูกต้อง จึงเรียกว่า สีมาได้

เอกรรถ

: ตํ ฐานํ สีมาลกฺขณสมฺปนฺนตฺตา สีมาติ วุจฺจติ ฯ

สังกร

: ยสฺมา ตํ ฐานํ สีมาลกฺขณสมปนฺนํ โหติ, ตสฺมา สีมาติ วุจฺจติ ฯ

 

๓. สังกรประโยค

          สังกรประโยค คือ ประโยคใหญ่ที่มีประโยคเล็กตั้งแต่ ๒ ประโยค ขึ้นไปรวมกัน แต่มีประโยคที่เป็นหลักเป็นประธาน ซึ่งมีใจความสำคัญประโยคเดียว นอกจากนั้นเป็นประโยคเล็กทำหน้าที่ประกอบ หรือขยายประโยคหลักนั้น

          สังกรประโยคกับอเนกรรถประโยค แม้จะเกิดจากการประกอบประโยคเล็กตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปเหมือนกันก็จริง แต่ก็มีความต่างกัน คือ ประโยคเล็กในสังกรประโยคมีความสำคัญเพียงประโยคหน้า ประโยคเดียว ประโยคหลังเป็นประโยคขยายความ

          ส่วนประโยคต่างๆ ในอเนกรรถประโยค มีใจความสำคัญเท่าเทียมกันทุกประโยค และในสังกรประโยคนี้ส่วนใหญ่มีคำสรรพนาม คำวิเศษณ์ หรือคำบุพบท เช่นคำว่า ที่ ซึ่ง ผู้ อัน เมื่อ โดย เพื่อ เป็นต้น เป็นคำเชื่อมความ เช่น

- สามเณรที่ไปต่างจังหวัด เป็นสามเณรที่เรียนหนังสือดี

- ผมไม่ต้องการจะนึกถึงเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสองปีที่แล้ว

- กำนันผู้ที่ได้รับรางวัลดีเด่นมาได้เสียชีวิตเสียแล้ว

- เมื่อฉันมาถึง เขาได้จากไปเสียแล้ว

          สังกรประโยคในหลักภาษาไทยตรงกับประโยค ย ต ในภาษามคธ ประโยค ถือว่าเป็นประโยคเล็ก ประโยค เป็นประโยคใหญ่ ประโยค ทำหน้าที่ขยายความในส่วนต่างๆ ของประโยค ดังกล่าวมาแล้วในบทก่อน ขอให้นักศึกษาได้ทบทวนดูให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง จะสามารถเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

 

ประเภทสังกรประโยค

          เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น นักศึกษาพึงทราบความละเอียดเรื่องสังกรประโยคเพิ่มอีกสักเล็กน้อย เนื่องจากว่าสำนวนไทยนั้น ที่เป็นสังกรประโยคก็มีไม่น้อย และเมื่อเข้าใจสังกรประโยคละเอียด แล้วก็จะแยกเนื้อความแล้วแต่งเป็นประโยค ย ต ได้โดยไม่ยากนัก

สังกรประโยคประกอบด้วยประโยค ๒ ประโยค คือ ประโยคหลัก กับประโยคเล็ก มีชื่อเรียกตามไวยากรณ์ไทยว่า มุขยประโยค กับ อนุประโยค

 

๑. มุขยประโยค

          คือ ประโยคหลัก ประโยคสำคัญซึ่งจะขาดเสียมิได้ ในสังกรประโยคหนึ่งๆ จะมีมุขยประโยคอยู่เพียงประโยคเดียวเท่านั้น ข้อความที่พิมพ์ด้วยตัวเน้นต่อไปนี้ จัดเป็นมุขยประโยค

- พระภิกษุ ผู้ฉลาดในพระธรรมวินัย ย่อมได้ร้บการยกย่องในหมู่สงฆ์อย่างมาก

- พระพุทธรูป ที่อยู่ในโบสถ์ แสดงปาฏิหาริย์ให้คนเห็น

- สร้อยคอ ซึ่งมีราคาแพงเส้นนั้น หายไปเสียแล้วเมื่อคืนนี้

          ขอให้นักศึกษาสังเกตว่า ข้อความตัวเน้นนั้นเมื่อนำมาต่อกันเข้า ก็จะได้ความสมบูรณ์ตามปกติ เช่น พระภิกษุย่อมได้รับการยกย่องใน หมู่สงฆ์อย่างมาก ข้อความนี้เรียกว่า มุขยประโยค

          ส่วนข้อความตัวเอียงเป็นประโยคแทรกเข้ามา เพื่อขยายความ ข้อความนั้นเรียกว่า อนุประโยค ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป เวลาแต่งเป็นสำนวนมคธ ข้อความที่เป็นมุขยประโยคก็แต่งเป็นประโยค และ อนุประโยคแต่งเป็นประโยค

 

๒. อนุประโยค

          คือ ประโยคเล็ก ทำหน้าที่ขยายหรือปรุงแต่งมุขยประโยคให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อนุประโยคนี้มี ๓ ชนิด คือ

 

๒.๑ นามานุประโยค คืออนุประโยคที่เป็นนาม ทำหน้าที่เป็น บทประธาน บทกรรม หรือบทขยายในประโยคนั้นๆ แล้วแต่เนื้อความ เช่น

- การที่คนเราเกียจคร้าน ย่อมนำทุกข์มาให้ภายหลัง

- ข้าพเจ้าเห็นผู้หญิงคนนั้นเดินออกมาจากบ้าน

- กิจการของคนค้าขายบ้าน ไม่ดีเลยในปีนี้

 

๒.๒ คณานุประโยค คืออนุประโยคที่ประกอบกับนามหรือสรรพนาม ทำหน้าที่เหมือนเป็นบทวิเสสนะในภาษามคธ เช่น

- คนที่มีความขยัน ย่อมตั้งเนื้อตั้งตัวได้โดยไม่ช้า

- เราไม่ต้องการเงินทองซึ่งเป็นของคนอื่น

 

๒.๓ วิเศษณานุประโยค คืออนุประโยคที่ประกอบกับคำกิริยา ทำหน้าที่เหมือนบทกิริยาวิเสสนะในภาษามคธ เช่น

- เขาทำงานหนักมานาน จนเขาต้องเจ็บป่วยลง

- เธอสอบไล่ได้ เพราะเธอดูหนังสือมากกว่าฉัน

- ผมเห็นเขา เมื่อเขาไปเยี่ยมญาติที่บ้านเมื่อปีที่แล้ว

 

          สำหรับตัวอย่างสังกรประโยคในภาษามคธ หรือประโยค ย ต ในภาษามคธนั้นมีมากในปกรณ์ทั้งหลาย ขอให้นักศึกษาได้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน โดยใช้หลักที่กล่าวมาข้างต้นนื้เข้าไปจับ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ทีละน้อย เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งดีแล้ว ก็ไม่ยากนักที่จะแต่งไทยเป็นมคธ

          ที่นำเรื่องประโยคภาษาไทยมาแสดงไว้นี้ ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์ หรือเป็นอุปการะในการแต่งไทยเป็นมคธของนักศึกษา เพราะผู้ที่เข้าใจ หลักเกณฑ์ไวยากรณ์ไทย ซึ่งเป็นหลักใหญ่ๆ ได้ตามสมควรแล้ว ก็สามารถตีความภาษาไทยได้คล่อง สามารถตัดทอนประโยคได้ถูกต้อง และจะสามารถรูได้ว่าเนื้อความตอนใดมีความสัมพันธ์กับตอนใด ทำ หน้าที่ใดในประโยค เป็นต้น

          ทั้งยังจะช่วยวินิจฉัยได้ว่า ข้อความภาษาไทยเช่นนี้ ควรจะแต่ง เป็นประโยคภาษามคธเช่นใด ควรใช้นิบาตประเภทใดเข้ามาเชื่อมความ เพื่อให้ความชัดเจนขึ้น ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้อ่าน หากไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักไวยากรณ์ไทยไว้บ้าง ก็เป็นการยากที่จะตีความ ตัดทอนประโยค แต่งประโยคภาษามคธให้เกิดสัมพันธภาพ ให้เกิดอรรถรสทาง ภาษา และยากที่จะรักษาเนื้อความตามที่กำหนดไว้ได้

 

อ้างอิง

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙,ราชบัณฑิต). คู่มือ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ.๔-๙ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ.๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ๒๕๔๔.





 


40612766
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
4076
25161
135623
40302836
663791
937182
40612766

Your IP: 18.216.123.120
2024-04-26 04:59
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search