วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ. ๙ โดย พระธรรมวโรดม

โดย....พระธรรมวโรดม" (บุญมา ป.. ๙) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร

๕ กรกฎาคม ๓๐

 

ข้อความเบื้องต้น

 

- วิชาแต่งไทยเป็นมคธนี้ มีคติเช่นเดียวกับการแต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรม แผนกนักธรรมสนามหลวง ในลักษณะที่นักเรียนมีอิสระจะแต่งอธิบายความได้ ตามถนัด ย่อมมีพลความแตกต่างกันออกไปมากบ้าง น้อยบ้าง แต่เนื้อหาสาระของเรื่อง จะต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน สนามหลวงจึงยอมรับว่า แต่งได้ดี ควรยกย่องว่า เป็นผู้มีความรู้สมควรแก่ภูมิชั้น ฉันใด การแต่งไทยเป็นมคธนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

 

คุณสมบัติของนักเรียน ป.ธ. ๙

 

-นักเรียนผู้จะเรียนวิชาแต่งไทยเป็นมคธ ป.ธ. ๙ ได้ดี จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังนี้ :

๑. มีหลักวิชาไวยากรณ์ดี
๒. มีความรู้หลักการเรียงความภาษามคธดี
๓. มีความรู้ธรรมะแต่ละข้อแตกฉานดีพอสมควร
๔. มีความทรงจำประโยค และ ศัพท์ภาษามคธ ได้มากพอสมควร

มีหลักวิชาไวยากรณ์ดี

 

- นักเรียนจะต้องหวนกลับไปทบทวนวิชาบาลีไวยากรณ์ ที่เรียนผ่านพ้นมาแล้ว ให้เกิดความชำนาญ ช่ำชอง คล่องแคล่ว โดยให้คล่องปาก และขึ้นใจ กล่าวโดยเฉพาะหลักบาลีไวยากรณ์ ดังต่อไปนี้ :

๑. การแจกวิภัตตินามศัพท์ ในลิงค์ทั้ง ๓
๒. การแจกวิภัตติสังขยา
๓. การแจกวิภัตติสัพพนาม
๔. วิภัตติอาขยาตทั้ง ๘ หมวด พร้อมทั้งประโยคตัวอย่าง
๕. กิริยากิตท์

มีความรู้หลักการเรียงความภาษามคธดี

 

-วิชาแต่งไทยเป็นมคธ นี้ มีหลักเกณฑ์ในการแต่ง คือ การวางรูปประโยคเป็นต้น ก็นิยมใช้หลักเกณฑ์ของวิชาแปลไทยเป็นมคธ ป.ธ. ๔-๕-๖-๗-๘ ที่เรียนผ่านมาแล้วนั่นเอง

 

- เพราะฉะนั้น นักเรียนจะต้องหวนกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์วิชาแปลไทยเป็นมคธ ซึ่งได้เรียนผ่านมาแล้วนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการแต่ง และเพื่อให้การแต่งถูกต้องตามหลักวิชา ไม่ใช่นึกแต่งโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากหลักเกณฑ์

 

มีความรู้ธรรมะแต่ละข้อแตกฉานดีพอสมควร

 

- ความจริง ธรรมแต่ละข้อนั้น ย่อมมีลักขณาทิจตุกกะ คือ มีวิเสสลักษณะ ๔ ประการ อันเป็นลักษณะที่จะกำหนดรู้ได้ว่า ต่างจากธรรมะข้ออื่น ๆ ได้แก่ มีลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน เฉพาะตัว และมีข้อที่จะต้องอธิบายขยายความออกไป เป็น ๖ ประการ ดังต่อไปนี้ :

๑. อรรถะ    คือ ความหมายของธรรมะนั้น ๆ ทั้งโดยอรรถ และโดยพยัญชนะ
๒. ประเภท  คือ ธรรมะข้อนั้น ๆ จำแนกออกไปได้เท่าไร
๓. เหตุ       คือ ธรรมะข้อนั้น ๆ มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้น
๔. ผล        คือ ธรรมะข้อนั้นๆ เมื่อบุคคลประพฤติแล้วจะบังเกิดผลดีหรือจะบังเกิดผลชั่วอย่างไร
๕. อุปมา    คือ ธรรมะข้อนั้น ๆ มีข้ออุปมาเปรียบเทียบ ให้เห็นเด่นชัดเหมือนอะไร
๖. สาธก     คือ ธรรมะข้อนั้น ๆ มีนิทานเรื่องอะไร ? นำมาเล่าประกอบทำให้ผลดี หรือผลชั่วปรากฎเด่นชัด

 - ความรู้ธรรมะแต่ละข้อแตกฉาน ดังกล่าวมานี้ นักเรียนจะต้องศึกษาค้นคว้าจากคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ได้เรียนผ่านมาแล้ว และควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการแต่งไทยเป็นมคธ ได้เนื้อหาสาระดี และถูกต้องตามความหมายธรรมะข้อนั้น ๆ เป็นอย่างดี

 

มีความทรงจำประโยค และศัพท์ภาษามคธ ได้มากพอสมควร

 

- นักเรียนผู้จะแต่งไทยเป็นมคธได้ดี จะต้องเป็นผู้ได้ผ่านการดูหนังสือบาลีมามากพร้อมทั้งได้กำหนดจดจำสำนวนประโยคถ้อยคำและศัพท์พวง ที่ท่านนิยมใช้ในปกรณ์ทั้งหลาย เพื่อนำมาใช้ในการแต่งของตน การที่นักเรียนจะคิดแต่งศัพท์ คือบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ด้วยตนเองเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ยกเว้นแต่ข้อความภาษาไทยตอนนั้น เป็นศัพท์ใหม่ ยังไม่เคยมีปรากฎใช้ในปกรณ์ทั้งหลายมาก่อนเลย

 

- ในเบื้องต้นแห่งการศึกษาวิชาแต่งไทยเป็นมคธนี้ นักเรียนควรแสวงหาสำนวนวิชาแต่งไทยเป็นมคธ ที่ท่านได้แต่งไว้เป็นตัวอย่าง อาทิเช่น ตัวอย่างแต่งไทยเป็นมคธ ในหนังสือเรื่องบาลีสนามหลวง ประจำศกต่าง ๆ นำมาศึกษาพิจารณา ด้วยวิธีเทียบกับสำนวนไทยว่า

 

- ท่านใช้ถ้อยคำสำนวนอย่างไร ?

- ท่านวางรูปประโยคอย่างไร ?

- ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การแปลไทยเป็นมคธ หรือไม่ ?

- ถูกต้องตามหลักบาลีไวยากรณ์ หรือไม่ ?

- ถูกต้องตามความนิยมของภาษามคธ หรือไม่ ?

- สำนวนที่แต่งไว้นั้น แต่งได้ดี หรือแต่งไม่ดี อย่างไร เป็นต้น ?

 

- ถ้านักเรียนพิจารณาดูแล้ว สามารถรู้ได้ว่า "สำนวนแต่งดี" หรือ "สำนวนแต่งไม่ดี" เพียงเท่านี้ ก็นับได้ว่า "เป็นผู้มีความรู้หลักการแต่งไทยเป็นมคธแล้ว"

 

- ถ้านักเรียนผู้สามารถจะแก้สำนวนที่แต่งไม่ดีนั้นให้ดีขึ้น หรือแก้สำนวนที่แต่งไม่ถูกนั้น ให้ถูกต้องได้ ก็นับได้ว่า "เป็นผู้แต่งไทยเป็นมคธเป็นแล้ว"

 

 

หลักเกณฑ์การแต่งไทยเป็นมคธ โดยย่อมี ๔ วิธี คือ

 

๑. ตาม  คือ แต่งภาษามคธตามสำนวนภาษาไทยในข้อความที่ควรจะแต่งตามได้
๒. ดี     คือ ตีความหมายของภาษาไทยว่า ภาษาไทยอย่างนี้ ตรงกับภาษาบาลีอย่างไร

๓. ตัด   คือ ตัดสำนวนภาษไทยที่เป็นพลความออกเสีย เลือกเอาแต่เนื้อหาสาระของเรื่อง แต่งเป็นภาษามคธ ในข้อความตอนที่ควรจะตัดออกได้

๔. เติม  คือ แต่งเพิ่มเติมภาษามคธ ให้สมบูรณ์ ตามหลักวรรณคดีภาษามคธ ในตอนที่ข้อความภาษาไทยกล่าวไว้ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง และเป็นประโยคนิยมของภาษามคธ

 

 

วิธีการแต่งไทยเป็นมคธ

 

ต้องอ่านภาษาไทยที่จะแต่งเป็นมคธนั้น ให้รู้ให้เข้าใจความหมายเสียก่อน ดังนี้ :

 

- เรื่องอะไร ? มีอรรถอย่างไร ? มีประเภทแยกออกไปได้อย่างไร หรือไม่ ? มีอะไร เป็นเหตุทำให้เกิดขึ้น ? มีผลดี หรือผลชั่ว แก่ผู้ปฏิบัติอย่างไร ? มีข้ออุปมาเหมือนอะไร ? มีเรื่องสาธกอย่างไร ?

 

- ข้อความภาษาไทยที่จะแต่งเป็นภาษามคธนั้น เป็นข้อความตอนใดของเรื่อง เป็นตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนปลายของเรื่องต้องกำหนดหมายข้อความในภาษาไทยนั้น ดังต่อไปนี้

 

- ข้อความตั้งแต่ไหน ถึงไหน ? ได้ความตอนหนึ่ง ควรลงประโยคหนึ่ง ๆ ต้องกำหนดหมายข้อความภาษาไทยอย่างนี้ ตลอดไปจนจบเรื่องที่จะแต่งนั้น ทุก ๆ ครั้ง

 

- ข้อความภาษาไทยประโยคใด พอจะกลับความเป็นภาษามคธตามได้ ก็แต่งภาษามคธตามสำนวนภาษาไทย อย่างนี้ เรียกว่า "ตาม"คือ แต่งตามสำนวนภาษาไทย

 

- ข้อความภาษาไทยประโยคใด เป็นสำนวนสลับชับซ้อนมาก ถ้าแต่งภาษามคธตามสำนวนภาษาไทย ข้อความภาษามคธที่แต่งนั้น จะกลายเป็น "บาลีไทย" หรือจะได้ความไม่ชัดเจน ในลักษณะเช่นนี้ นิยมตัดพลความของภาษาไทยออกเสีย กำหนดเอาเฉพาะเนื้อหาสาระของเรื่อง แต่งประกอบประโยคเป็นภาษามคธ อย่างนี้ เรียกว่า "ดี" คือ ตีความหมายของสำนวนภาษาไทย แล้วแต่งเป็นภาษามคธ แต่เมื่อแปลแล้วคงได้ความหมายตามภาษาไทยตอนนั้น ๆ

 

- ข้อความภาษาไทยประโยคใด มีข้อความกล่าวซ้ำ ๆ กัน ซึ่งเป็นความนิยมของภาษาไทย เมื่อจะแต่งเป็นภาษามคธ นิยมตัดข้อความภาษาไทยที่ซ้ำ ๆ กันออกเสีย อย่างนี้ เรียกว่า "ตัด" คือ ตัดข้อความภาษาไทยที่ช้ำๆ กันทิ้งเสีย

 

- ข้อความภาษาไทยในประโยคใด มีข้อความกล่าวไว้ไม่ชัดเจน ไม่รัดกุม คุมความไว้ไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามหลักวรรณคดี อย่างนี้ เรียกว่า "เติม" คือ เติมภาษามคธให้ข้อความสมบูรณ์

 

ต้องใช้ศัพท์ภาษามคธได้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้ :

 

- ต้องใช้ศัพท์ภาษามคธ ได้เหมาะสมกับเรื่องนั้น ๆ โดยพยายามคิดค้นหาศัพท์ภาษามคธ ที่เคยมีปรากฎใช้อยู่แล้วในปกรณ์ทั้งหลาย ซึ่งได้เรียนผ่านมาแล้ว นำมาใช้ในการแต่งไทยเป็นมคธ นี้

 

- ต้องตรวจดูสำนวนที่แต่งแล้ว แต่ละประโยคว่า "เป็นสำนวนภาษามคธที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และ ถูกต้องตามหลักวรรณคดีภาษาบาลี หรือไม่ ?" หรือ สำนวนภาษามคธอย่างนี้ เราเคยพบเห็นมาก่อน หรือไม่ ?" ถ้ายังไม่เคยพบเห็นมาก่อน ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยแต่งใหม่ทันที

 

สำนวนภาษามคธที่นิยมว่าแต่งได้ดี มีลักษณะดังต่อไนี้ :

 

๑. นิยมมีนิบาตต้นข้อความ ประเภท หิ จ ปน เป็นต้น

 

๒. นิยมลงนิบาตเชื่อมความในประโยค แต่ละประโยค

 

๓. นิยมแต่งสำนวนประโยครูปวิเคราะห์ เมื่อเริ่มต้นข้อความ ในเมื่อหัวซ้อเรื่องที่จะแต่งนั้น สมควรจะตั้งวิเคราะห์ใด้ เพื่อแก้ศัพท์ หรือเพื่ออธิบายความหมายของศัพท์

 

๔. แต่งสำนวนประโยคแบบตั้งเป็นมาติกา คือ เป็นแม่บท หรือเป็นหัวข้อใหญ่ในเมื่อข้อความสำนวนภาษาไทยจำแนกประเภทออกไปตั้งแต่ ๒ อย่างขึ้นไป เช่น ในทางคดีโลก และทางคดีธรรม เป็นต้น

 

๕. นิยมแต่งสำนวนภาษามคธ เป็นประโยคนิทธารณะและนิทธารณียะ ในเมื่อได้แต่งสำนวนแบบตั้งเป็นบทมาติกา ในประโยคหน้ามาแล้ว

 

๖. นิยมตัดตอนข้อความภาษาไทยออกเป็นตอน ๆ แต่งเป็นภาษามคธเป็นประโยค ๆไป โดยไม่ให้ประโยคยาวเกินไป และไม่ให้ประโยคสั้นเกินไป ประโยคอย่างยาวไม่ควรเกินกว่า ๓ บรรทัด

 

๗. นิยมแต่งสำนวนภาษามคธ เป็นรูปสังกรประโยค (คือ ประโยค ย. ประโยค ด) ในเมื่อข้อความภาษาไทยอำนวยให้แต่งอย่างนั้นได้

 

๘. นิยมแต่งสำนวนภาษามคธ โดยมีประโยคแสดงเหตุ และประโยคแสดงผล อย่างสมบูรณ์

 

๙. นิยมแต่งสำนวนภาษามคธ เพิ่มเติมข้อความให้สมบูรณ์ ให้ได้ความ โดยชัดเจนเพื่อเป็นการบังคับข้อความในสำนวนภาษามคธนั้น ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง กล่าวคือแต่งสำนวนคุมความไว้ให้อยู่ บังคับข้อความไว้ ไม่ให้แปรไปเป็นอย่างอื่น ในตอนที่ข้อความภาษาไทยไม่ชัดเจน ไม่สมบูรณ์

 

๑๐. นิยมแต่งสำนวนภาษามคธ เพิ่มประโยคว่า "นิทสฺสนญฺเจตฺถ ทฏฺฐพฺพํ" หรือ "ตตฺรายํ อุปมา" ก่อนที่จะแต่งสำนวนประโยคอุปมาอุปไมย

 

๑๑. นิยมแต่งสำนวนภาษามคธ เพิ่มประโยคว่า "เสยฺยถีทํ" หรือ "กถํ" ก่อนที่จะแต่งสำนวนแสดงข้อความพิสดารต่อไป

 

๑๒. นิยมแต่งสำนวนกาษามคธให้ครบบริบูรณ์ เพียงประโยคเดียว หรือเพียงสองประโยเท่านั้นในมื่อสำนวนภาษาไทยมีข้อความที่กล่าวเหมือนกัน ตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป

 

๑๓. นิยมแต่งสำนวนภาษามคธ เป็นร้อยกรอง คือ แต่งเป็นรูปคาถา ในข้อความที่ เป็นสำนวนให้พร ในตอนท้ายของเรื่องนั้น ๆ

 

๑๔. นิยมเขียนศัพท์ภาษามคธให้ถูกต้องตามหลักบาลีไวยากรณ์ และเขียนแยกศัพท์ออกเป็นศัพท์ ๆ ไป โดยไม่เขียนแยกให้เสียศัพท์

 

๑๕. นิยมเขียนย่อหน้าทุกครั้ง เมื่อเริ่มต้นข้อความใหม่ แม้ช้อความภาษาไทยจะไม่ได้ย่อหน้าไว้ก็ตาม เพื่อสะดวกแก่การกำหนดใจความ

 

๑๖. นิยมเขียนเว้นบรรทัด เพื่อสะดวกแก่การตกเติม และ เพื่อถวายความสะดวกแก่กรรมการผู้ตรวจ

 

๑๗. นิยมเขียนภาษามคธ โดยเขียนอักษรตัวบรรจง และนิยมลงคั่นหัวตะปูทุกครั้งที่ลงประโยค

 

 

 

หลักเกณฑ์การใช้กิริยาคุมพากย์

 

กิริยาคุมพากย์ หมวดวัตตมานาวิภัตติ

- ข้อความตอนนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กำลังเป็นไปอยู่ หรือ

- ข้อความตอนนั้น เป็นเรื่องที่มีจริง เป็นจริง อยู่อย่างนั้นตลอดกาล ทุกยุคทุกสมัย

 

กิริยาคุมพากย์ หมวดวัตตมานาวิภัตติ มีกิริยากิตก์ ต ปัจจัย เป็นบทวิกติกัตตา

- ข้อความตอนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังดำรงอยู่ กำลังมีปรากฎอยู่ กำลังเป็นไปอยู่ เช่น คำว่า "อุปฺปนฺโน โหติ" ซึ่งมีข้อความเท่ากับคำว่า "อุปฺปชฺชติ" นั่นเอง

 

กิริยาคุมพากย์ หมวดภวิสสันติ

- ข้อความตอนนั้น เป็นเรื่องคาดคะเน ซึ่งเหตุการณ์ที่คาดคะเนนั้น ยังไม่เกิดขึ้น อาจเกิดขึ้นก็ได้ หรืออาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เท่ากัน กิริยาคุมพากย์ หมวดภวิสสันติ มีกิริยากิตก์ ต ปัจจัย เป็นบทวิกติกัตตา

- ข้อความตอนนั้น เป็นเรื่องคาดคะเน ซึ่งเหตุการณ์ที่คาดคะเนนั้น อาจเกิดขึ้นก็ได้ หรืออาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ถ้าเป็นจริงตามที่คาดคะเนนั้นเรื่องนั้นก็จะต้องเกิดขึ้น เช่น อุทาหรณ์ในประโยคว่า

 

โส (กุฎมฺพิโก) เอกทิวสํ นหานติตฺถํ คนฺตฺวา นหาตฺวา อาคจฺฉนฺโต อนฺตรามคฺเค สมฺปนฺนสาขํ เอวํ วนปฺปตึ ทิสุวา "อยํ มเหสกฺขาย ปริคฺคหิโต ภวิสฺสตีติ ตสฺส เหฏฺฐาภาคํ โสธาเปตฺวา ปาการปริกฺเขปํ การาเปตฺวา วาลุกํ โอกิราเปตฺวา ธชปฎากํ อุสฺสาเปตฺวา วนปฺปตึ อลงฺกริตฺวา "ปุตฺตํ วา ธีตรํ วา ลภิตฺวา ตุมฺหากํ มหาสกฺการํ กริสฺสามีติ ปตฺถนํ กตฺวา ปกกามิ ฯ

(ธรรมบท ภาค ๑ หน้า ๑)

 

กิริยาคุมพากย์ หมวดกาลาติปัตติ

- ข้อความตอนนั้น เป็นการนำเอาเรื่องที่ล่วงเลยไปแล้วมาพรรณนา เป็นการนำเอาเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต มาตั้งเป็นสมมติฐานขึ้นกล่าวเสียใหม่ ซึ่งมีช้อความต่างจากข้อความที่กล่าวไว้เดิมว่า "ถ้าเขาจักได้ทำอย่างนั้น เขาจักได้เป็นอย่างนั้น" ดังนี้เป็นต้น แต่เป็นเพียงเรื่องยกมากล่าว เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นโทษในมิจฉาปฏิบัติ และให้เห็นคุณานิสงส์ในสัมมาปฏิบัติ เช่น อุทาหรณ์ในประโยคว่า

 

สตฺถา อาคนฺตฺวา "กาย นุตฺถ ภิกขเว เอตรหิ กถาย สนฺนิสินฺนาติ ปุจฺฉิตฺวา "อิมาย นามาติ วุตฺเต, "ภิกฺขเว สจายํ เอกสาฏโก ปฐมยาเม มยฺหํ ทาตุํ, อสกฺขิสฺส สพฺพโสฬสกํ อลภิสฺส, สเจ มชฺฌิมยาเม ทาตุํ อสกฺขิสฺส, สพฺพฏฺฐกํ อลภิสฺส, พลวปฺปจฺจูเส ทินฺนตฺตา ปเนส สพฺพจตุกฺกํ ลภิ, กลฺยาณกมฺมํ กโรนฺเตน หิ อุปฺปนฺนจิตตํ อหาเปตฺวา ตํขณญฺเญว กาตพฺพํ, ทนฺธํ กตํ กุสลํ หิ สมฺปตฺตึ ททมานํ ทนฺธเมว ททาติ, ตสฺมา จิตฺตุปฺปาทสมนนฺตรเมว กลฺยาณกมฺมํ กาตพฺพนฺติ วตฺวา อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ธมฺมํ เทเสนฺโต อิมํ คาถมาห ฯ

(ธรรมบท ภาค ๕ หน้า ๒)

 

หลักเกณฑ์การเรียงกิริยาคุมพากย์ ควบอัพภันตรกิริยา อนฺต มาน ปัจจัย

 

- นิยมเรียงอิริยาบถใหญ่ ๔ ประการ คือ นั่ง นอน เดิน ยืน เป็นกิริยาคุมพากย์ ส่วนกิริยาที่ทำพร้อมกัน นิยมเรียงเป็นอัพภันตรกิริยา ประกอบด้วย อนฺต หรือ มาน ปัจจัย กิริยากิตก์ อุทาหรณ์ว่า

๑. เขานั่งฟังธรรม นิยมประกอบประโยคว่า โส ธมฺมํ สุณนฺโต นิสีทิ ฯ

๒. เขานอนคิดอุบายจะฆ่า โส มรณุปายํ จินฺเตนฺโต นิปชฺชิ ฯ

๓. เขาเดินโฆษณา โส อุคฺโฆเสนฺโต วิจริ ฯ

๔. เขายืนพัดพระเถระ โส เถรํ วีชมาโน ฐิโต ฯ

 

 

วิธีการแต่งหัวเรื่องสำนวนภาษามคธ

 

๑. ชื่อเรื่อง นิยมเขียนไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษ

๒. กิริยาคุมพากย์ (โดยมาก นิยมประกอบเป็นกิริยาประโยคกัมมวาจก) นิยมเรียงไว้ท่ามกลางข้อความของประโยค เรียงคั่นกลางระหง่างเหตุการณ์ กับ บทอนภิหิตกัตตา

๓. ข้อความที่เป็นเหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับใคร ที่ไหน เมื่อไร เป็นต้น นิยมเรียงไว้ข้างหน้ากิริยาคุมพากย์

๔. บทอนภิหิตกัตตา พร้อมทั้งคุณบทเป็นต้น ที่เกี่ยวเนื่องกับบทอนภิหิตกัตตา นิยมเรียงไว้ข้างหลังกิริยาคุมพากย์

๕. บทกิริยาของบทอนภิหิตกัตตา นิยมเรียงไว้ข้างหลังบทอนภิหิตกัตตา

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search