ธรรมวิจารณ์ บทที่ 1

บทที่ ๑ นิพพิทาและปฏิปทาแห่งนิพพิทา

ธรรมวิจารณ์ส่วนปรมัตถปฏิปทา

ท่านยกข้อธรรมที่เป็นกระทู้ตั้งไว้ ๖ ประการ คือ
๑.นิพพิทา ความหน่าย
๒.วิราคะ ความสิ้นกำหนัด
๓.วิมุตติ ความหลุดพ้น
๔.วิสุทธิ ความหมดจด
๕. สันติ ความสงบ
๖.นิพพาน

๑.นิพพิทา ความหน่าย

           นิพพิทา คือความเบื่อหน่ายสังขารว่าเป็นทุกข์   เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้วก็คลายความกำหนัดยินดีในสังขารทั้งปวง  โดยเห็นตามความเป็นจริงว่า  สังขารเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นของไม่ใช่ตัวตน   ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น  เป็นความเบื่อหน่ายที่ประกอบด้วยปัญญา   จิตจึงหลุดพ้นจากกิเลส  สะอาดบริสุทธิ์   มีความสงบเย็น  เข้าถึงพระนิพพาน                                                                                                                                                  
            ส่วนความเบื่อหน่ายเป็นครั้งคราวในสิ่งที่เราไม่ชอบใจด้วยอำนาจกิเลส  เช่นนักเรียนเบื่อหน่ายไม่อยากไปเรียนหนังสือ    ภรรยาเบื่อหน่ายนิสัยเจ้าชู้ของสามี   คนป่วยเบื่ออาหาร  เป็นต้นไม่จัดเป็นนิพพิทา

อุทเทศข้อที่  ๑  (หัวข้อเรื่อง)

       เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ                   จิตฺตํ ราชรถูปมํ
       ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ                นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ
       สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ อันตระการดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่ฯ

โลกในบาลี ๒ อย่าง

๑.โลกโดยตรง ได้แก่ แผ่นดินเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่สัตว์  เรียกว่าโอกาสโลก   โลกคือแผ่นดิน
๒.โลกโดยอ้อม ได้แก่ หมู่สัตว์ผู้อาศัยอยู่บนโลก  เรียกว่าสัตวโลก   โลกคือหมู่สัตว์

สภาพของโลก

โลกคือชุมชนมนุษย์ มีลักษณะเป็น ๓ คือ
๑. สิ่งอันให้โทษโดยส่วนเดียว เปรียบด้วยยาพิษ
๒.สิ่งอันอาจให้โทษในเมื่อเกินพอดี เปรียบด้วยของมึนเมา
๓. สิ่งอันเป็นประโยชน์ เปรียบด้วยอาหารและยารักษาโรค  แต่ใช้ในทางผิดก็อาจให้โทษได้

พุทธประสงค์ของการดูโลก

            สมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสชักชวนหมู่ชนให้มาดูโลกอันวิจิตรตระการตา อันเปรียบด้วยราชรถโบราณที่ประดับด้วยเครื่องอลังการอย่างสวยสดงดงามด้วยทรงมุ่งหมาย ๒ ประการ
            ๑. มิใช่เพื่อให้หลงชื่นชมอยู่ในสิ่งของอันสวยงามที่อยู่บนโลกนี้
            ๒. เพื่อปลุกใจหมู่ชนให้เห็นซึ้งลงไปถึงคุณประโยชน์  และมิใช่ประโยชน์ของสิ่งนั้น ๆ 

โลกที่คนเขลาหมกอยู่ ๓ อย่าง

(๑) ย่อมเพลิดเพลินในสิ่งอันให้โทษ
(๒) ย่อมหลงละเลิงจนเกินพอดี ในสิ่งอันอาจให้โทษ
(๓) ย่อมติดในสิ่งที่เป็นประโยชน์

บัณฑิตไม่ข้อง ๒ อย่าง

๑. ไม่พัวพันในสิ่งอันล่อใจ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
๒. ใจย่อมเป็นอิสระจากรูป  เสียง กลิ่น รส สัมผัส

อุทเทสข้อที่  ๒

             เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ         โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา
             ผู้ใดจักระวังจิต ผู้นั้นย่อมพ้นจากบ่วงแห่งมาร

การสำรวมจิต

            ผู้ใดสำรวมจิต คือ ไม่ปล่อยให้จิตเพลิดเพลินหลงพัวพันในสิ่งอันล่อใจเหล่านั้น ผู้นั้นย่อมหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมารด้วยการสำรวมจิต   ๓ ประการ คือ
            ๑. สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ความยินดีครอบงำในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสอันน่าปรารถนาเป็นต้น
            ๒. มนสิการกัมมัฏฐาน อันเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ คือ อสุภะ กายคตาสติ และมรณสติ
            ๓. เจริญวิปัสสนา คือ พิจารณาสังขารแยกออกเป็นขันธ์ ให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสังขาร

มารและบ่วงแห่งมาร ๒

            ๑. มาร คือ กิเลสกาม ซึ่งได้แก่ ตัณหา ความทะยานอยาก ราคะ ความกำหนัด อรติ ความไม่ยินดีเป็นต้น กิเลสกามนี้ได้ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเป็นโทษล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคน
            ๒. บ่วงแห่งมาร คือ วัตถุกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่น่าชอบใจ ที่จัดว่าเป็นบ่วงแห่งมาร เพราะเป็นอารมณ์เครื่องผูกใจให้ติดอยู่ในอารมณ์อันน่าใคร่

ปฏิปทาแห่งนิพพิทา

อุทเทส

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ          ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข               เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ            ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข                เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ              ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข                เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา.

            เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง   เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์    นั่นทางแห่งวิสุทธิ.    เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์   เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์    นั่นทางแห่งวิสุทธิ.      เมื่อใดเห็นด้วยปัญญาว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา    เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์   นั่นทางแห่งวิสุทธิ. (ธรรมบท มรรควรรค)

อธิบายคำว่าสังขาร

            คำว่า สังขาร ในบาลีข้างต้นนั้น ได้แก่ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันได้ชื่อว่าเบญจขันธ์ และมีลักษณะเสมอเหมือนกันเป็น ๓ คือ
            ๑. อนิจจตา      ความเป็นของไม่เที่ยง
            ๒. ทุกขตา       ความเป็นทุกข์
            ๓. อนัตตตา     ความเป็นอนัตตา

อนิจจตา

            อนิจจตา ความไม่เที่ยงแห่งสังขาร ย่อมกำหนดรู้ได้ด้วยอาการ ๓  อย่าง คือ
            ๑. ในทางที่เห็นได้ง่าย    มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น   มีความแปรปรวนไปในท่ามกลางและมีความแตกสลายไปในเบื้องปลาย
            ๒. ในทางที่ละเอียดกว่านั้น ย่อมกำหนดรู้ได้ด้วยความแปรไปในระหว่างเกิดและดับ ในเบื้องต้นแปรมาในฝ่ายเจริญ  แต่นั้นหยุดเจริญแต่ขยายตัว  แต่นั้นสังขารทรุดโทรมลงไปจนปรากฎ
            ๓. ในทางที่ละเอียดที่สุด  ย่อมกำหนดเห็นความแปรปรวนแห่งสังขารชั่วขณะหนึ่ง ๆ คือไม่คงที่อยู่นานเพียงระยะกาลนิดเดียวก็แปรแล้ว

ทุกขตา

            ทุกขตา ความเป็นทุกข์แห่งสังขาร  สภาวะที่สังขารทั้งปวงทนได้ยาก  ไม่สามารถดำรงอยู่เหมือนเดิมได้   ย่อมกำหนดเห็นด้วยลักษณะแห่งทุกข์ ๑๐ ประการ คือ

๑.สภาวทุกข์                    ๒.ปกิณณกทุกข์         
๓.นิพัทธทุกข์                   ๔.พยาธิทุกข์
๕.สันตาปทุกข์                  ๖.วิปากทุกข์
๗.สหคตทุกข์                   ๘.อาหารปริเยฏฐิทุกข์
๙.วิวาทมูลกทุกข์               ๑๐.ทุกขขันธ์ หรือ ทุกข์รวบยอด

อธิบายลักษณะแห่งทุกข์ ๑๐ ประการ

            ๑.  สภาวทุกข์ หรือทุกข์ประจำสังขาร  มีอยู่ด้วยกันทุกคนไม่มีข้อยกเว้น คือ ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย
            ๒. ปกิณณกทุกข์ หรือทุกข์จร  มีมาเป็นครั้งคราว คือ โสกะ ความเศร้าโศก ปริเทวะ ความร่ำไร   ทุกขะ ความทุกข์กาย   โทมนัส ความทุกข์ใจ    อุปายาส ความคับแค้นใจ
            ๓. นิพัทธทุกข์ คือทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เป็นประจำ   ได้แก่ความหนาว   ร้อน   หิว กระหาย  ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
            ๔. พยาธิทุกข์
หรือทุกขเวทนา ทุกข์เพราะความเจ็บไข้มีประเภทต่าง ๆ ตามสมุฏฐาน คืออวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ทำหน้าที่โดยปกติ
            ๕. สันตาปทุกข์ ทุกข์คือความร้อนรุ่ม หรือทุกข์ร้อน ได้แก่ ความกระวนกระวายใจ เพราะถูกไฟคือกิเลสมีราคะ โทสะ และโมหะแผดเผา        
            ๖. วิปากทุกข์ หรือทุกข์เพราะผลกรรม ได้แก่ วิปปฏิสาร คือความร้อนใจที่เกิดในปัจจุบันทันตาเห็น จากการได้รับโทษตามความผิดของบ้านเมือง   ความฉิบหาย   ความตกยากลำบากในการดำเนินชีวิต   หรือทุกข์หลังจากความตายคือตกนรก เป็นต้น
            ๗. สหคตทุกข์ ทุกข์ไปด้วยกัน หรือทุกข์กำกับกัน ได้แก่ทุกข์อันเนื่องมาจากผลแห่งความสำเร็จในชีวิต   คือมีลาภ   ก็เสื่อมลาภ   มียศ ก็เสื่อมยศ   มีสรรเสริญ   ก็มีนินทา    มีสุขก็มีทุกข์  เป็นของมาคู่กัน
            ๘. อาหารปริเยฏฐิทุกข์  คือทุกข์ในการทำมาหากิน ได้แก่ อาชีวทุกข์ คือทุกข์เนื่องด้วยการเลี้ยงชีวิต
            ๙. วิวาทมูลกทุกข์  คือทุกข์มีวิวาทเป็นมูล ได้แก่ความไม่โปร่งใจ ความกลัวแพ้ ความหวาดหวั่นมีเนื่องมาจากทะเลาะกันก็ดี   สู้คดีกันก็ดี   รบกันก็ดี
            ๑๐. ทุกขขันธ์ หรือทุกข์รวบยอด หมายเอาทุกข์ที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์  ๕

 อนัตตตา  

            อนัตตตา   ความเป็นอนัตตา คือความเป็นของไม่ใช่ตัวตนแห่งสังขาร   พึงกำหนดรู้ได้ด้วยอาการ ๕ คือ
            ๑. ด้วยไม่อยู่ในอำนาจ  คือไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร  ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้
            ๒. ด้วยแย้งต่ออัตตา  คือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นตัวตน
            ๓. ด้วยความเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้  คือไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง
            ๔. ด้วยความเป็นสภาพสูญ คือว่างหรือหายไป  เมื่อพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆหาสภาวะที่แท้จริงไม่มี
            ๕. ด้วยความเป็นสภาวธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย  คือเป็นเพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นก็เพราะเหตุ  ดับไปก็เพราะความดับแห่งเหตุ

            อนิจจลักษณะ  ย่อมได้ในสังขาร ๒ คือ อุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีใจครอง   และอนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง
            ทุกขลักษณะ    ย่อมได้เฉพาะอุปาทินนกสังขาร สังขารทีมีใจครองอย่างเดียว    เพราะเป็นเจตสิกธรรม
            อนัตตลักษณะ  ย่อมได้ทั้งในสังขาร และในวิสังขาร (วิสังขาร คือธรรมอันมิใช่สังขารที่ท่านหมายเอานิพพาน)

            คำว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา” ในบาลีอุทเทสที่แสดงปฏิปทาแห่งนิพพานนั้น หมายเอาสังขารก็ได้ วิสังขารก็ได้

สัจจะ ๒

           การพิจารณาเห็นสังขารเป็นอนัตตา  ต้องประกอบด้วยโยนิโสมนสิการคือพิจารณาโดยแยบคาย   ถึงจะเห็นสัจจะทั้ง  ๒  ประการ คือ
           ๑. สมมติสัจจะ  จริงโดยสมมติ  เช่นสังขารผู้ให้กำเนิดชายสมมติว่าเป็นบิดา  หญิงสมมติว่าเป็นมารดาเป็นต้น
           ๒. ปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถ์  เช่นคน  สัตว์  สิ่งของเป็นต้น เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นจากธาตุ  ๔   เมื่อแยกออกเป็นส่วน ๆแล้ว  ความเป็นคน  สัตว์  สิ่งของก็ไม่มี

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

๑. สันตติ  คือความสืบต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสาย  เมื่อสิ่งหนึ่งหมดไปก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาแทน  ปิดบังอนิจจัง
๒. บริหาร
 คือการเคลื่อนไหวอิริยาบถหรือการบริหารร่างกาย  ปิดบังทุกข์
๓. ฆนสัญญา 
คือการกำหนดร่างกายว่าเป็นตัวตน  เป็นก้อนเป็นต้น  ปิดบังอนัตตา

ข้อควรจำ

            นิพพิทา หมายเอาความหน่ายในทุกข์ที่เกิดขึ้นด้วยการใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาเห็นโลกอย่างแท้จริง ไม่ติดอยู่ในกิเลสกามและวัตถุกาม  เป็นกิริยาที่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์  เรียกว่านิพพิทา ถ้าหน่ายจากสิ่งหนึ่งแล้วไปติดอยู่ในอีกสิ่งหนึ่ง   อย่างนี้ไม่เรียกว่า นิพพิทา แต่เรียกว่าถีนะ ท้อแท้   ความหน่ายในทุกข์ซึ่งเกิดด้วยปัญญา เรียกว่า นิพพิทาญาณ  ซึ่งจัดป็นปฏิปทาแห่งวิสุทธิ

 

ปัญหาและเฉลยบทที่ ๑

๑.คำว่า “โลก” ในบาลีว่า “เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ” หมายถึงข้อใด ?
              ก.แผ่นดินและหมู่สัตว์                        ข.แผ่นดินและจักรวาล
              ค.แผ่นดิน น้ำ อากาศ                        ง.หมู่มนุษย์และสัตว์

๒.คำว่า “จงมาดูโลกนี้” พระองค์ตรัสไว้เพื่อพระประสงค์ใด ?
              ก.เพื่อให้เพลิดเพลิน                          ข.เพื่อมิให้หลงชม
              ค.เพื่อให้สลดใจ                              ง.เพื่อให้เห็นโลก

๓.ทำอย่างไร จึงจะไม่ถูกเรียกว่า “พวกคนเขลา” ?
              ก.ต้องรู้ทันโลก                              ข.ต้องรู้โลกตามเป็นจริง
              ค.ต้องรู้โลกธรรม                            ง.ต้องรู้คดีโลกคดีธรรม

๔.คำว่า “พวกคนเขลา” หมายถึงบุคคลในข้อใด ?
              ก.คนอัธพาล                                 ข.คนสมองไม่ดี
              ค.คนเสียสติ                                  ง.คนผู้ไร้วิจารณญาณ

๕.คำว่า “พวกผู้รู้” หมายถึงใคร ?
              ก.ผู้รู้โลกธรรม                                ข.ผู้รู้โลกตามเป็นจริง
              ค.ผู้รู้ค่าของความงาม                       ง.ผู้รู้ทันเหตุการณ์

๖.คำว่า “หาข้องอยู่ไม่” มีความหมายตรงกับข้อใด ?
              ก.ไม่พัวพันในสิ่งล่อใจ                      ข.ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ๆ
              ค.ไม่ให้ความสนใจโลก                    ง.ไม่ปรารถนาเกิดในโลก

๗.นักศึกษาควรมองโลก โดยเปรียบเทียบกับอะไร ?
              ก.ยาพิษ                                      ข.ของมึนเมา
              ค.อาหารและยา                             ง.ถูกทุกข้อ

๘.ในเรื่องนิพพิทา อาการเช่นไร เรียกว่า สำรวมจิต ?
              ก.ปิดใจไม่รับอารมณ์                       ข.ปิดตาหูไม่ดูไม่ฟัง
              ค.มนสิการกัมมัฏฐาน                       ง.ทำใจมิให้ขัดเคือง

๙.กิเลสกาม คือเจตสิกอันเศร้าหมอง ได้ชื่อว่า มาร เพราะเหตุไร ?
              ก.เพราะเป็นเครื่องผูกใจ                     ข.เพราะเป็นคุณเศร้าหมอง
              ค.เพราะล่อใจให้หลงระเริง                  ง.เพราะล้างผลาญคุณความดี

๑๐.วัตถุกามเป็นอารมณ์เครื่องผูกใจให้ติดอยู่ เรียกว่าอะไร ?
              ก.ขันธมาร                                    ข.บ่วงมาร
              ค.มาร                                         ง.มัจจุมาร

๑๑.โดยตรง ท่านจัดอะไรเป็นมาร ?
              ก.กิเลสกาม                                  ข.วัตถุกาม
              ค.กามกิเลส                                  ง.กามตัณหา

๑๒.คนเช่นไร ควรสงเคราะห์เข้าในคำว่า “มาร” ?
              ก.คนเป็นศัตรูกัน                            ข.คนขัดขวางการทำดี
              ค.คนอันธพาล                               ง.คนโกหกหลอกลวง

๑๓.โทษล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคน เรียกว่าอะไร ?
              ก.มาร                                        ข.บ่างมาร
              ค.เสนามาร                                  ง.มัจจุมาร

๑๔.คำว่า บ่วงแห่งมาร หมายถึงข้อใด ?
              ก.กิเลสกาม                                 ข.วัตถุกาม
              ค.กามฉันท์                                 ง.กามตัณหา

๑๕.ทำอย่างไร จึงจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร ?
              ก.สำรวมอินทรีย์                            ข.มนสิการกัมมัฏฐาน
              ค.เจริญวิปัสสนา                            ง.ถูกทุกข้อ

๑๖.ข้อใด มิใช่อาการสำรวมจิตตามหลักของนิพพิทา ?
              ก.สำรวมอินทรีย์ ๖                         ข.พิจารณาปัจจัย ๔
              ค.มนสิการกัมมัฏฐาน                       ง.เจริญวิปัสสนา

๑๗.ปฏิบัติอย่างไร จึงจะตัดบ่วงแห่งมารได้ เป็นสมุจเฉทปหาน ?
              ก.สำรวมอินทรีย์                            ข.มนสิการกัมมัฏฐาน
              ค.เจริญวิปัสสนา                            ง.เข้าฌานสมาบัติ

๑๘.การเห็นสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์แล้วเบื่อหน่าย เรียกว่าอะไร ?
              ก.วิราคะ                                     ข.นิพพิทา
              ค.วิมุตติ                                     ง.นิพพาน

๑๙.นิพพิทานั้นเกิดขึ้นด้วยอะไร จึงเป็นนิพพิทาญาณ ?
              ก.เกิดด้วยปัญญา                          ข.เกิดด้วยฌาน
              ค.เกิดด้วยวิสุทธิ                            ง.เกิดด้วยสมาธิ

๒๐.คำว่า “สังขาร” ในปฏิปทาแห่งนิพพิทา หมายถึงอะไร ?
              ก.สภาพที่ปรุงแต่งจิต                       ข.ปัญจขันธ์
              ค.อินทรีย์                                     ง.อายตนะ

๒๑.ความเบื่อหน่ายเกิดจากปัญญานั้น ได้แก่เบื่อหน่ายอะไร ?
             ก.เบื่อหน่ายทั่วไป                           ข.เบื่อหน่ายสังขาร
             ค.เบื่อหน่ายปัญจขันธ์                       ง.เบื่อหน่ายภพชาติ

๒๒.เมื่อจิตเบื่อหน่าย ย่อมเกิดอะไรขึ้น ?
             ก.ความไม่ฟุ้งซ่าน                           ข.ความไม่หลง
             ค.ความสิ้นกิเลส                             ง.ความสิ้นกำหนัด

๒๓.เบื่อหน่ายอะไร จัดเป็นนิพพิทา ?
             ก.เบื่อหน่ายสังขาร                         ข.เบื่อหน่ายการงาน
             ค.เบื่อหน่ายการเรียน                       ง.เบื่อหน่ายสังคม

๒๔.คนและสัตว์ จัดเป็นสังขารประเภทใด ?
             ก.วิสังขาร                                   ข.ปุญญาภิสังขาร
             ค.อุปาทินนกสังขาร                        ง.อนุปาทินนกสังขาร

๒๕.การพิจารณาสังขารในข้อใด ไม่ใช่ปฏิปทาแห่งนิพพิทา ?
             ก.ไม่เที่ยง                                   ข.เป็นทุกข์
             ค.ไม่แย้งอัตตา                              ง.ไม่อยู่ในอำนาจ

๒๖.ข้อใด ไม่จัดเป็นสังขารในเรื่องนิพพิทา ?
             ก.อารมณ์                                    ข.นิพพาน
             ค.ร่างกาย                                   ง.วิญญาณ

๒๗.เมื่อรู้ว่า “สังขารเป็นไปตามเหตุปัจจัย” พึงปฏิบัติอย่างไร ?
             ก.มีสุขทุกเมื่อ                               ข.มีอคติทุกเมื่อ
             ค.มีสติทุกเมื่อ                               ง.วางเฉยทุกเมื่อ

๒๘.ข้อใดช่วยบรรเทาความเศร้าโศกเสียใจได้ ?
             ก.ตั้งสติปล่อยวาง                           ข.ร้องไห้ดัง ๆ
             ค.ไปเที่ยวพักผ่อน                           ง.ฟังพระเทศน์

๒๙.ข้อใด เป็นสมมติสัจจะ ?
             ก.สังขารไม่เที่ยง                             ข.สังขารเป็นทุกข์
             ค.ธรรมเป็นอนัตตา                            ง.มารดาบิดา

๓๐.ความขาดแห่งสันตติ ทำให้เห็นอะไร ?
             ก.ความไม่เที่ยง                              ข.ความทุกข์
             ค.ความแก่                                    ง.ความตาย

๓๑.อนิจจลักษณะ ไม่ปรากฏในข้อใด ?
             ก.ร่างกาย                                     ข.จิตใจ
             ค.ต้นไม้                                        ง.นิพพาน

๓๒.อนิจจตา มีลักษณะเช่นไร ?
             ก.เกิดแล้วเสื่อมไป                           ข.ทนอยู่ไม่ได้
             ค.ไม่อยู่ในอำนาจ                            ง.หาเจ้าของมิได้

๓๓.ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแห่งสังขาร เป็นลักษณะแห่งอะไร ?
             ก.อนิจจลักษณะ                               ข.ทุกขลักษณะ
             ค.อนัตตลักษณะ                               ง.สัปปุริสลักษณะ

๓๔.ข้อใด เป็นความหมายของทุกข์ ?
             ก.สภาพที่เบียดเบียนสัตว์                     ข.สภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง
             ค.สภาพไม่มีความยั่งยืน                       ง.ถูกทุกข้อ

๓๕.ความหนาว ร้อน หิว กระหาย จัดเป็นทุกข์ข้อใด ?
             ก.สภาวทุกข์                                   ข.นิพัทธทุกข์
             ค.วิปากทุกข์                                   ง.พยาธิทุกข์

๓๖.อวัยวะไม่ทำหน้าที่ตามปกติจนเกิดความทุกข์ เป็นทุกข์ข้อใด ?
             ก.สภาวทุกข์                                   ข.นิพัทธทุกข์
             ค.วิปากทุกข์                                   ง.พยาธิทุกข์

๓๗. “พูดโดยไม่คิด พ่นพิษใส่คนอื่น” จัดเป็นทุกข์ข้อใด ?
             ก.สหคตทุกข์                                   ข.วิวาทมูลกทุกข์
             ค.พยาธิทุกข์                                    ง.นิพัทธทุกข์

๓๘.วิปากทุกข์ หมายถึงทุกข์ข้อใด ?
             ก.ทุกข์เพราะเสวยผลกรรม                     ข.ทุกข์เพราะวิวาทกัน
             ค.ทุกข์เพราะเศรษฐกิจ                         ง.ทุกข์เพราะเจ็บป่วย

๓๙.สันตาปทุกข์ ทุกข์เพราะใจร้อนรน เกิดจากอะไร ?
             ก.อารมณ์เครียด                                 ข.ความผิดหวัง
             ค.ราคะเป็นต้นแผดเผา                          ง.วิตกจริตแผดเผา

๔๐.ข้อใด เป็นสภาวทุกข์ ?
             ก.เกิด แก่ เจ็บ ตาย                             ข.ร้อน หิว กระหาย
             ค.โรค ภัย ไข้หวัด                               ง.ยากจน อดอยาก

๔๑.ทุกข์ทั้งหมดรวมเรียกว่า ทุกขขันธ์ เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด ?
             ก.ขาดสติ                                         ข.ขาดปัญญา
             ข.ความยึดมั่น                                    ง.ความเห็นแก่ตัว

๔๒.ทุกข์เพราะหาเงินไม่พอใช้ จัดเป็นทุกข์อะไร ?
             ก.สภาวทุกข์                                     ข.นิพัทธทุกข์
             ค.วิปากทุกข์                                     ง.อาหารปริเยฏฐิทุกข์

๔๓.ทุกข์ไปด้วยกัน หรือทุกข์กำกับกัน อันได้ชื่อว่าสหคตทุกข์ตรงกับข้อใด ?
             ก.ขันธ์ ๕                                          ข.อายตนะ ๑๒
             ค.อคติ ๔                                          ง.โลกธรรม ๘

๔๔.ปกิณณกทุกข์ ได้แก่ข้อใด ?
             ก.เศร้าโศกเสียใจ                                ข.หนาวร้อน
             ค.เจ็บไข้ได้ป่วย                                 ง.หิวกระหาย

๔๕.มองไม่เห็นทุกข์ เพราะมีอะไรปิดบังไว้ ?
             ก.สันตติ                                           ข.อิริยาบถ
             ค.ฆนสัญญา                                      ง.สุขเวทนา

๔๖.ความไม่อยู่ในอำนาจ จัดเป็นอาการของอะไร ?
             ก.อนิจจตา                                        ข.ทุกขตา
             ค.อนัตตตา                                        ง.สามัญญตา

๔๗.คำว่า “อนัตตา” กล่าวหมายเอาข้อใด ?
             ก.ธรรมทั้งปวง                                    ข.สังขารทั้งปวง
             ค.เวทนาทั้งปวง                                  ง.ทุกข์ทั้งปวง

๔๘.เห็นว่า “นั่นมิใช่เรา นั่นมิใช่ของเรา” จัดเป็นอนัตตาในข้อใด ?
             ก.ไม่อยู่ในอำนาจ                                  ข.แย้งต่ออัตตา
             ค.หาเจ้าของมิได้                                  ง.เป็นสภาพสูญ

๔๙.เพราะถูกอะไรปิดบังไว้ จึงไม่เห็นสังขารเป็นอนัตตา ?
             ก.อิริยาบถ                                         ข.สันตติ
             ค.อนิจจสัญญา                                    ง.ฆนสัญญา

                                                        

เฉลยบทที่ ๑

๑. ก                 ๒.  ข                ๓. ข                ๔. ง                ๕. ข               
๖. ก                 ๗. ง                 ๘. ค               ๙. ง                ๑๐. ข     
๑๑. ก              ๑๒. ข                ๑๓. ก             ๑๔. ข              ๑๕. ง     
๑๖. ข              ๑๗. ค               ๑๘. ข              ๑๙. ก             ๒๐. ข   
๒๑. ค              ๒๒. ง                ๒๓. ก              ๒๔. ค             ๒๕. ค     
๒๖. ข               ๒๗. ค               ๒๘. ก             ๒๙. ง             ๓๐. ก    
๓๑. ง                ๓๒. ก                ๓๓. ก             ๓๔. ง             ๓๕. ข                         
๓๖. ง                ๓๗. ข                ๓๘. ก            ๓๙. ค             ๔๐. ก                       
๔๑. ค               ๔๒. ง                 ๔๓. ง            ๔๔. ก             ๔๕. ข   
๔๖. ค                ๔๗. ก                ๔๘. ค           ๔๙. ง

Leave a comment

You are commenting as guest.


39861722
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
12183
26677
139082
39571724
849929
963129
39861722

Your IP: 1.47.135.162
2024-03-29 08:29
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search