เทคนิคการเขียน

 

วิชา บุรพภาค ป.ธ.๓
เทคนิคการเขียน
อุปกรณ์ที่ควรเตรียมไว้ มีดังนี้

๑. ปากกาลูกลื่น (ปากกาหมึกแห้ง) สีนํ้าเงิน ที่ใช้เขียนไปบ้างแล้ว พร้อมใช้งาน อย่างน้อย ๒ ด้าม

๒. ปากกาลูกลื่นสีแดง พร้อมใช้งาน จำนวน ๑ ด้าม

๓. ไม้บรรทัด

๔. นํ้ายาลบคำผิด (ไม่ควรใช้ยางลบหมึก เพราะจะช้าและอาจมือหนัก ลบแล้วทำให้กระดาษขาด)

๕. ปากกาลูกลื่น (ปากกาหมึกแห้ง) ที่ไม่มีหมึก เพื่อใช้ขีดตรงที่จะต้องย่อหน้า (ไม่ควรพับกระดาษ) อย่าใช้ปากกาที่มีหมึกขีดเส้นกั้นหน้า กั้นหลัง และย่อหน้า โดยเด็ดขาด

๖. กระดาษฟุ๊สแก็ป สีขาวอย่างดี (อย่าเอาอย่างบางหรือหนาจนเกินไป) อย่างน้อย ๖ แผ่น

๗. ถ้าเป็นไปได้ ก่อนเข้าห้องสอบ หรือในขณะที่รอกรรมการแจกปัญหา ให้เขียนหัวกระดาษให้เสร็จเรียบร้อย (เพราะเวลาทำข้อสอบวิชานี้มีเพียง ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาที เท่านั้น อย่าเผลอไปคิดว่า ๔ ชั่วโมง ๑๕ นาที) โดยเขียน ดังนี้

(ใช้ปากกาหมึกสีนํ้าเงิน ขีดเส้นทับเส้นบรรทัดของกระดาษฟุ๊สแก็ป ดังตัวอย่างนี้ได้)

๘. ให้ใช้ปากกาลูกลื่นที่ไม่มีหมึก ขีดเป็นรอยเส้นกั้นหน้าและกั้นหลังกระดาษไว้ ให้ห่างจากริมกระดาษ ดังนี้ กั้นหน้า (ด้านซ้าย) ห่าง ๓ ซ.ม. (เท่ากับความกว้างของไม้บรรทัดพอดี จะใช้ไม้บรรทัดทาบ แล้วขีดก็ได้ จะรวดเร็วดี) และกั้นหลัง (ด้านขวา) ห่าง ๒ ซ.ม. ตามระเบียบงานสารบรรณสากล เวลาเขียน อย่าให้เลยเส้นที่กั้นเป็นรอยไว้นี้ (เส้นที่กั้นเป็นรอยกั้นหน้า ย่อหน้าและกั้นหลังไว้นี้ ใช้ได้กับหนังสือทุกประเภท)

 

เมื่อได้รับปัญหาแล้วให้กำหนด ดังนี้

๑. ดูให้ออกว่า เป็นหนังสือประเภทอะไร คือ เป็นจดหมาย ประกาศ คำสั่ง กฎระเบียบ หรือ บทความธรรมดา

๒. เมื่อรู้ว่าเป็นหนังสือประเภทอะไรแล้ว ให้วางรูปแบบตามแบบฟอร์มของหนังสือนั้นๆ

๓. อ่านปัญหา ตรงไหนถ้า

๓.๑ ต้องย่อหน้า ให้ใช้ปากกาสีแดงขีด พร้อมกับเขียนคำว่า ย่อหน้า

๓.๒ ต้องวรรค ให้ใช้ปากกาสีแดงขีด เฉยๆ (ไม่ต้องเขียนกำกับ)

๓.๓ เป็นคำผิด (ซึ่งจะมีมาก) ให้ใช้ปากกาสีแดงขีดเส้นใต้ทุกคำที่ผิด

๔. เมื่ออ่านปัญหาและปฏิบัติตามข้อ ๓ จบแล้ว ให้รีบลงมือเขียนลงในกระดาษใบตอบทันที

๕. การเขียนนั้น ไม่ต้องเว้นบรรทัด ถ้าเป็นไปได้ ให้เขียนตัวบรรจงครึ่งบรรทัด ไม่ควรเขียนตัวอักษรใหญ่เกินไป ถ้าจบใน ๑ หน้ากระดาษ จะเป็นการดีมาก แต่ถ้าไม่หมดก็ให้เขียนต่อในแผ่นที่ ๒ (อย่าเขียน ๒ หน้า โดยเด็ดขาด เพราะถ้าเข้าปึกแล้ว จะผลิกตรวจยาก)

 

อ้างอิง

บุญสืบ อินสาร ป.ธ.๙, พ.ม., ศษ.บ..  เทคนิคการเขียนวิชาบุรพภาค ประโยค ป.ธ.๓.  พิมพ์ครั้งที่ ๔. นนทบุรี : หจก.โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล,  ๒๕๕๔.

  • Author: supanat
  • Hits: 8023
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search