วสันตดิลกฉันท์

วสันตดิลกฉันท์  ครูแปลว่า  "ฉันท์มีคณะเหมือนเมฆที่มืดมนในเดือน ๕ เดือน ๖ อันเป็นส่วนของฤดูฝน" ฉันท์นี้เป็นจตุททสักขรฉันท์  บาทหนึ่งมี ๑๔ อักษร (๑๔ คำ) ยติ ๘-๖ กำหนดใช้ลงคณะ ๔ คณะคือ ต, ภ, ช, ช และมีครุลอย ๒ อักษรสุดท้าย เช่นเดียวกับอินทรวิเชียร

ข้อสังเกต

วสันตดิลกฉันท์มีส่วนคล้ายกับอินทรวิเชียรฉันท์  คือ ๓ คำแรก เป็น ต คณะ (อินฺทาทิ...)  และ ๖ คำหลัง (ยติสุดท้าย) เป็น ช คณะและครุลอย ๒ (ว ชิ รา ช คา โค) เหมือนกัน ดังนั้น ครุลอย ตัวสุดท้ายบาทจึงสามารถใช้ลหุแทน  เป็นปาทันตครุได้เช่นกัน

ในคัมภีร์วุตโตทัย แสดงสูตรของวสันตดิลกฉันท์ไว้ว่า

วุตฺตา  วสนฺตติลกา  ต  ภ  ชา  ช  คา  โค

มีรูปแผนประกอบดังนี้

ต้วอย่าง

เอโส  นิรุตฺติกุสโล  กุสโล  จ  พนฺเธ
เสฏฺโฐ  มหากวิ  มหากวินํ  สรฏฺเฐ
วณฺณาภิเปมหทโย  สทโย  กวีสุ
อคฺคํ  พหุํ  อิธ  ปพนฺธิ  ปพนฺธวตฺถุํ
เย  เต  ปพนฺธกุสลา  กวโย  สุพุทฺธี
เต  วลฺลภาสฺสติปิยา  จ  วิเสสโต  ว ฯ
(ฉันท์เฉลิมพระเกียรติ ฯ ร.๒)

วสันตดิลกฉันท์ถือว่า เป็นฉันท์ชั้นสุดยอดในบรรดาฉันท์ทั้งหมดที่แสดงมาข้างต้น เป็นที่นิยมกันมากในคัมภีร์ต่างๆ กวีทั้งหลายมักจะแต่งฉันท์ชนิดนี้เพื่อเป็นการ "อวดฝีมือ" ของตน หากฝีมือถึงเช่นที่อวดแล้ว บทประพันธ์นั้นย่อมเป็นอมตะ และเป็นแบบอย่างแกกวีรุ่นหลังได้ เช่น บทถวายพรพระ พาหุํ ฯ  นั้น ถือว่าเป็นยอดของวสันตดิลกฉันท์ทีเดียว หรืออย่างเช่น คำฉันท์เทอดพระเกียรติ ร.๒ ซึ่งนำมาเป็นตัวอย่างข้างต้น  ก็มี "ลูกเล่น" อยู่ในคาถาแรก คือเล่นคำซ้ำในแต่ละบาท ได้แก่คำว่า กุสโล-กุสโล, มหากวิ มหากวินํ, หทโย-สทโย, ปพนฺธิ-ปพนฺธ  ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงฝึมือแล้ว ยังเป็นการแสดงอารมณ์กวีที่ต้องการ "พลิกแพลงเล่น" ด้วย ดังเช่นบทกวีไทยในสมัยเก่าที่ว่า

โอเจ็บใจใจจริงทุกสิ่งหนอ
ไม่เห็นรักรักเราเฝ้ารักรอ ทนแต่ก่อก่อเข็ญเป็นนิจกาล
ที่หวังใจใจจริงทุกสิ่งสิ้น ไม่ล้อลิ้นลิ้นลมคารมหวาน
ทุกวันทุกข์ทุกข์เหลือล้นจะทนทาน ควรฤารานรานร้าวข่าวรวนเร
โอ้อกนี้จะยับด้วยอับเฉา เพราะรักเขาเขาไม่รักชักหันเห
เห็นแลสุดสุดร่ำคน้ำคะเน จะถ่ายเทเททุบายให้หาแคลง
ฯลฯ  
  (ประชุมจารึกวัดโพธิ์)

 


ที่มา "หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ" พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙)





 


40455420
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
3864
29341
152584
40100302
506445
937182
40455420

Your IP: 3.15.190.144
2024-04-20 02:13
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search