บทความพระพุทธศาสนา : HAPPINESS (ความสุข)

 

ผู้เขียน : 釋清勝

ว/ด/ป : 22 กรกฎาคม 2562

HAPPINESS (ความสุข)

          ยุคสมัยแห่งความโกลาหล เป็นดั่งเส้นรอบวงกลม ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนผ่านไปนานสักเท่าใด สุดท้ายก็เหมือนจะวนลูบกลับมาเกิดขึ้นอีกเสมอไป ตั้งแต่ยุคชุนชิวจ้านกว๋อ (770 B.C. – 222 B.C.) ยุคสามก๊ก (220 A.D. – 280 A.D.) ยุคล่าอาณานิคมต่างๆ สงครามโลกครั้งที่ 1-2 (war l – ll) สงครามเย็น (Cold War) สงครามกลางเมือง หรือแม้กระทั่งสงครามเศรษฐกิจที่ยังคุกรุ่นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนเกิดจากแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปต่างๆ ของโลกให้ดีขึ้น ให้ผู้คนมีความสุขยิ่งขึ้น แต่กลับลืมไปว่า สิ่งที่จำต้องเปลี่ยนแปลงให้เร็วที่สุด คือ “ศีลธรรมในตนเอง” ดั่งที่นักเขียนชาวรัสเชีย เลโอ ตอลสตอย (1828 A.D. – 1910 A.D.) ได้กล่าวว่า “ผู้คนทั้งหลายต่างมีแนวความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงกลไกของโลกด้วยกันทั้งนั้น แต่หามีผู้ใดเลย ที่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน” เพราะเมื่อทุกคนบนโลกเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น ประพฤติอยู่ในศีลและธรรม (เบญจศีล 5 และเบญจธรรม 5) โลกก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว มนุษย์ทุกคนก็จะมีความสุข กลายเป็นสังคมในอุดมคติ ที่มักเรียกกันว่า “ยุคพระศรีอาริย์ หรือ ยูโทเปีย” เลยทีเดียว

          ในทัศนะทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความสุขหลายประเภท ตั้งแต่ความสุขจากการครองเรือน (กามสุข) สุขในฌานสมาบัติ (ทิวิยสุข) หรือกระทั่งสุขที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือ พระนิพพาน (นิพฺพานสุข, ตณฺหกฺขยสุข) ซึ่งความสุขทั้ง 3 ระดับนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า (623 B.C. – 543 B.C.) ทรงสรรเสริญความสุขประเภทที่ 3 ว่าสุขที่สุด ดังที่ได้ตรัสว่า “กามสุขในโลกและทิพยสุข ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 (ที่จําแนกออก 16 หน) แห่งสุขคือความสิ้นตัณหา” (ขุ.อุ.อ. (ไทย) 44/ 52/ 167) และการจะเข้าถึงความสุขในระดับนี้ได้ จำต้องเกิดจากการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง (ปจฺจตฺตํ) โดยวิธีการหยุดใจนิ่งๆ สมดังวาระพระบาลีที่ว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” แปลว่า “สุขอื่นนอกจากความหยุดนิ่ง (สงบ) ย่อมไม่มี” (ขุ.ธ. (บาลี) 25/ 25/ 42) แล้วใจที่หยุดที่นิ่งนั้น ควรจะเอาไปไว้ ณ ที่ใด ? พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) (1884 A.D. – 1959 A.D.) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านได้ค้นพบเมื่อ 101 กว่าปี ที่ผ่านมา เมื่อวันขึ้น 15 ค่า เดือน 10 (1917 A.D.) โดยท่านได้ให้หลักการโดยสรุปไว้ว่า ให้เอาใจมาหยุดนิ่งไว้ตรงกลางท้อง เหนือสะดือ 2 นิ้วมือ ซึ่งเรียกว่า “ศูนย์กลางกายฐานที่ 7” โดยบริกรรมนิมิตเป็น “ดวงแก้วใสหรือองค์พระแก้วใส” พร้อมบริกรรมภาวนาว่า “สัมมา อะระหัง” ตามทางที่พระบรมศาสดาเอกของโลกได้ดำเนินเป็นต้นแบบแล้วนั่นเอง

          เมื่อประพฤติปฏิบัติตามที่กล่าวมาแล้วนี้ เชื่อได้ว่า วงโคจรแห่งความวุ่นวายที่วนลูบเป็นวงกลม จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดเส้นตัดที่เรียกว่า “ความสุข” โดยที่สุด แม้กระทั่ง ความสุขที่เกิดจากการขจัดกิเลสอาสวะก็จะบังเกิดขึ้น และโลกใบนี้คงจะได้นิยามใหม่ว่า “สวรรค์บนดิน” อย่างแน่นอน

 

  • Author: supanat
  • Hits: 1723
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search