ข้อสรุปในการแต่งฉันท์

            วิชาแต่งฉันท์  คือวิธีการที่ว่าด้วยกระบวนการ การเก็บใจความที่ท่านกำหนดให้มา ย่อลงให้สั้นด้วยวิธีการบังคับให้เข้าคณะพอดี เป็นวิชาย่อความอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นผู้แต่งฉันท์จำต้องเก็บใจความที่ถูกกำหนดนั้นให้ได้แล้วนำมาปรุงเป็นประโยคใหม่ที่กระทัดรัด แต่ได้ใจความที่ต้องการ

            วิธีนี้ผู้แต่งจะต้องมีความเจนจัดในกระบวนการของศัพท์ ความหมายของศัพท์ วิธีใช้ศัพท์ วิธีวางศัพท์ จะต้องพิถีพิถันในการใช้ศัพท์ ศัพท์ที่ใช้ต้องเลือกเฟ้นให้มีความกระทัดรัดได้ความหมายเหมาะสมกับเรื่องราว มีความชัดเจน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการ หลีกเลี่ยงใช้ศัพท์ซ้ำซ้อน กินความน้อย หรือไม่ได้ความหมายอะไร

            หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ที่เป็นปทปูรณะ จะต้องพิถีพิถันในการวางศัพท์ ศัพท์ไหนควรวางไว้ตรงไหนอย่างไร  จึงจะเหมาะสม สละสลวย ไม่เกะกะ วางศัพท์เป็นหมวดเป็นหมู่กันตามเรื่องราว เข้าใจเติมข้อความอื่นเข้าผสมเชื่อมโยงเนื้อหาให้ปะติดปะต่อกันได้  จะต้องเข้าใจในการเติมอุปมาคำเปรียบเทียบ เพื่อเพิ่มอรรถรสของคำประพันธ์ชนิดนี้

            จะต้องหลีกเว้นการบีบศัพท์เข้าคณะจนเสียรูปศัพท์  หรือการใช้ศัพท์เป็นสำนวนบาลีไทย และหลีกเว้นการปรุงศัพท์ใหม่ทั้ง ๆ ที่ศัพท์เฉพาะในความหมายนั้นมีอยู่แล้ว โดยเฉพาะศัพท์ธรรมะ ฉันท์ที่แต่งด้วยความพิถีพิถันในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ แม้อาจจะไม่ถึงขั้นยอดเยี่ยม แต่ก็เป็นฉันท์ชนิดดีได้

            ผู้ศึกษาวิชาแต่งฉันท์ต้องนึกอยู่เสมอว่า วิชานี้เป็นกระบวนวิชาที่มีลีลามาก เป็นสุดยอดของวิชาภาษาบาลี เป็นที่รวบรวมกฎเกณฑ์วิธีการต่าง ๆ ของภาษาไว้  เพราะฉะนั้น หากได้คำนึงไว้อย่างนี้อยู่เสมอ ก็เป็นทางนำให้เกิดความสนใจใคร่ศึกษาใคร่รู้ และสนใจฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอแก่นักเลงภาษาบาลีได้อย่างหนึ่ง

            กฎเกณฑ์วิธีการแต่งที่แสดงไว้แต่ต้นในบทนี้  เป็นเพียงส่วนหยาบ ๆ เท่านั้น ในส่วนลึกซึ้งละเอียดลออ หรือส่วนที่เป็นอลังการนั้น เป็นสิ่งที่รู้ยาก อธิบายก็ยาก ชี้ให้เห็นก็ยาก แต่ย่อมปรากฎชัดเจนได้ไม่ยาก หากใฝ่ใจสนใจพินิจพิจารณา ในตัวอย่างที่ท่านแต่งไว้ในปกรณ์ชั้นยอดทั้งหลาย และฝึกหัดฝึกฝนด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญแล้ว ฉะนั้น ขอนักศึกษาทั้งหลายพึงรู้ตามนัยนี้เถิด

 


ที่มา "หลักการแต่งฉันท์ภาษามคธ" พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙)

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search