หนังสือวิสุทธิมรรค

วิสุทธิมรรค (บาลี: วิสุทฺธิมคฺค) เป็นคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หนึ่ง ในพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งได้รับการจัดลำดับความสำคัญเทียบเท่าชั้นอรรถกถา โดยมี พระพุทธโฆสะ ชาวอินเดีย เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นในภาษาบาลี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 มีเนื้อหาที่อธิบายเกี่ยวกับ ศีล สมาธิ และปัญญา ตามแนววิสุทธิ 7

ในปัจจุบัน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในทางพุทธศาสนา ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการด้านพุทธศาสนาในหลายประเทศเป็นจำนวนมาก และได้รับการบรรจุในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ระดับชั้นเปรียญธรรม ๘ ประโยค และเปรียญธรรม ๙ ประโยค[1]

 

ความเป็นมาและโครงสร้างของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

ในคัมภีร์มหาวงส์กล่าวถึงประวัติ พระพุทธโฆสะ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้ว่าท่านเกิดในตระกูลพราหมณ์ ใกล้กับเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดียฝ่ายใต้ ในวัยเยาว์ได้ศึกษาเล่าเรียน ศิลปวิทยา ตามธรรมเนียมของพราหมณ์ เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวทมาก ท่านได้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ของอินเดีย เพื่อโต้ตอบเรื่องปรัชญากับนักปราชญ์ทั้งหลาย วันหนึ่งท่านได้พบกับพระเรวัตเถระที่วัดแห่งหนึ่ง หลังจากที่ไต่ถามปัญหาทางธรรมะ จึงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และขอออกบวช ได้สมญานามว่า พุทธโฆสะ เพราะเสียงของท่านมีความลึกซึ้ง สื่อความหมายทางธรรมดุจดังพระสุรเสียงของพระพุทธเจ้า

เมื่อบวชแล้วพระพุทธโฆสะได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย และอัตถสาลินี - อรรถกถาของธัมมสังคณี อันเป็นคัมภีร์แรกของพระอภิธรรมปิฎก เมื่อท่านเริ่มเขียนอรรถกถาปริตร พระเรวัตแนะนำให้ท่านเดินทางไปประเทศลังกา เพื่อศึกษาภาษาสิงหลและคัมภีร์อรรถกถาที่ลังกา แล้วแปลอรรถกถาสิงหลออกเป็นภาษามคธ (บาลี) เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษาสิงหล เพราะในอินเดียเวลานั้นมีแต่พระไตรปิฎก ไม่มีอรรถกถาเหมือนอย่างลังกา

พระพุทธโฆสะเดินทางไปประเทศลังกา ตรงกับช่วงรัชกาลของพระมหานาม พระพุทธโฆสะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านสังฆปาล ในสำนักของฝ่ายมหาวิหาร และขออนุญาตแปลอรรถกถาสิงหลเป็นภาษามคธ (บาลี) คณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารขอให้ท่านพิสูจน์ความสามารถด้วยการเขียนอธิบายขยายความคาถา 2 บท พระพุทธโฆสะอธิบายได้อย่างละเอียด มีเนื้อความครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า คือ กล่าวถึงเรื่อง ศีล สมาธิ และปัญญา ผลงานนี้คือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค

 คัมภีร์วิสุทธิมรรค จัดเป็นคัมภีร์สำคัญฝ่ายเถรวาทคัมภีร์หนึ่งในชั้นนวัฎฐกถา รจนาขึ้น เมื่อหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 956 ปี (ราวพุทธศตวรรษที่ 9) พระพุทธโฆสะอาศัยโบราณอรรถกถา 3 คัมภีร์ เป็นหลักใหญ่ในการแต่ง อรรถกถา 3 คัมภีร์ที่ว่านั้น คือ

  1. มหาอรรถกถา เป็นคัมภีร์เดิมที่เคยผ่านการสังคายนาครั้งแรก อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธานมาแล้ว และถูกถ่ายทอดเป็นภาษาสิงหลเมื่อสังคายนาครั้งที่ 3 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนายังนานาประเทศ
  2. มหาปัจจรีอรรถกถา แต่งขึ้นที่ประเทศลังกา
  3. กุรุณทีอรรถกถา แต่งขึ้นที่ประเทศลังกาเช่นกัน

อรรถกถาทั้ง 3 คัมภีร์นี้จารึกไว้เป็นภาษาสิงหล ใช้เป็นคัมภีร์หลักในการแต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคดังกล่าว

 

ความสำคัญของคัมภีร์วิสุทธิมรรค

อรรถกถาทั้งหลายในสมัยอนุราชปุระ ถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้เป็นหลักในการเขียนอรรถกถา และคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันบรรจุในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกภาษาบาลีประโยค ปธ.8 วิชาการแปลมคธเป็นไทยด้วย นับว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของพระพุทธโฆสะ ทำให้พุทธชนรุ่นหลังได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้มีนักวิชาการชาวต่างประเทศหลายท่านที่กล่าวถึงคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้ อาทิ R.C. Cnilders กล่าวยกย่องไว้ในคำนำของหนังสือ Pali English Dictionary ว่า คัมภีร์
วิสุทธิมรรคนี้เปรียบเหมือนสารานุกรมแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา ใช้ภาษาที่สั้นและชัดเจน แสดงถึงความเข้าใจทั่วถึงในเรื่องที่แต่งอย่างน่าอัศจรรย์ (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : ง) Dr. B.C.Law กล่าวไว้ในหนังสือ Buddhaghosa ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 1946 โดยให้ทัศนะว่าเป็นคัมภีร์ที่ให้ภาพรวมที่แสดงถึงระบบแห่งพระพุทธศาสนาทั้งหมด มิได้เพิ่มอะไรให้แก่ตัวคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่มุ่งหมายในการจัดสารบาญของพระไตรปิฎกให้เป็นระบบระเบียบ (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : จ) Spence Hardy เขียนไว้ในหนังสือ Manual of Buddhism กล่าวว่างานชิ้นนี้เสนอเนื้อหาส่วนที่เป็นคำสอนและอภิปรัชญาทางพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ทั้งหลักฐานและความถูกต้อง (วิสุทธิมรรค แปล 2513 : ช) พระธรรมปิฎก (สากัจฉา วิมุตติมรรค, 21 ก.ย.38) มีความเห็นว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรค ให้ความรู้ที่เป็นฐานเพื่อก้าวลงสู่มหาสมุทรแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา มีจุดยืนที่การนำเสนอภาคปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน

 

การแบ่งเนื้อหา

คัมภีร์วิสุทธิมรรค มีการแบ่งเนื้อหาสาระทั้งหมดเป็น 23 ปริจเฉท ได้แก่[2]

  1. ศีลนิเทศ แสดงถึงการรักษาศีล
  2. ธุตังคนิเทศ แสดงถึงวิธีการบำเพ็ญธุดงควัตร
  3. กัมมัฏฐานคหณนิเทศ แสดงถึงบุพกิจเบื้องต้นก่อนการเจริญสมถกรรมฐาน
  4. ปฐวีกสิณนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญปฐวีกสิณ โดยละเอียด
  5. เสสกสิณนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญกสิณ ที่เหลืออีก 9 ประการ
  6. อสุภกัมมัฏฐานนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอสุภกรรมฐาน 10 ประการ
  7. ฉอนุสสตินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอนุสสติกรรมฐาน 6 ประการแรก ตั้งแต่พุทธานุสสติ ถึงเทวตานุสสติ
  8. อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอนุสสติกรรมฐาน ที่เหลืออีก 4 ประการ
  9. พรหมวิหารนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญพรหมวิหารกรรมฐาน 4 ประการ
  10. อารุปปนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอรูปกรรมฐาน 4 ประการ
  11. สมาธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัตถาน
  12. อิทธิวิธนิเทศ แสดงถึงวิธีการแสดงฤทธิ์ต่างๆ 10 ประการ อันเป็นผลมาจากการเจริญสมถกรรมฐาน
  13. อภิญญานิเทศ แสดงถึงอภิญญา 6 ประการ อันเป็นผลจากการเจริญสมถกรรมฐาน
  14. ขันธนิเทศ แสดงถึงขันธ์ 5 อันเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน
  15. อายตนธาตุนิเทศ แสดงถึงอายตนะ 12 และ ธาตุ 18 อันเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน
  16. อินทริยสัจจนิเทศ แสดงถึงอินทรีย์ 22 และอริยสัจ 4 อันเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน
  17. ปัญญาภูมินิเทศ แสดงถึงปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ อันเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน
  18. ทิฏฐิวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนเห็นรูปนามตามความเป็นจริง
  19. กังขาวิตรณวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนสิ้นความสงสัยในสภาวธรรม เพราะเห็นรูปนามพร้อมเหตุปัจจัย
  20. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนข้ามพ้นวิปัสสนูปกิเลส
  21. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนดำเนินไปตามวิถีของวิปัสสนาญาณ 9
  22. ญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุอริยมรรค เป็นพระอริยบุคคล
  23. ปัญญาภาวนานิสังสนิเทศ แสดงถึงอานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

 

อ้างอิง

  1. หลักสูตรการศึกษาบาลีปัจจุบัน | บาลีดิค.com. เรียกข้อมูลวันที่ 10 ก.พ. 2554.
  2. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ), 2548 น. [18]-[21]
  • สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) (แปลและเรียบเรียง). คัมภีร์วิสุทธิมรรค. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2548. ISBN 974-91641-5-6

ที่มา วิกิพีเดีย และเว็บอื่นๆ

 





 


40607070
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
23541
28899
129927
40302836
658095
937182
40607070

Your IP: 18.118.184.237
2024-04-25 21:57
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search