หลักวาจกทั้ง ๕

กิริยาศัพท์ที่ประกอบด้วย วิภัตติ กาล บท วจนะ บุรุษ ธาตุ ดังนี้ จัดเป็น วาจก คือ กล่าวบทที่เป็นประธานของกิริยา ๕ อย่างคือ

  1. กัตตุวาจก
  2. กัมมวาจก
  3. ภาววาจก
  4. เหตุกัตตุวาจก
  5. เหตุกัมมวาจก

 ๑.กัตตุวาจก (ศัพท์กล่าวถึงผู้ทำ)

ใช้ในกรณีที่ข้อความในประโยคนั้นเน้นผู้ทำเป็นหลักใหญ่ มุ่งแสดงความสำคัญของผู้ทำและกิริยาอาการของผู้ทำเป็นประมาณโดยมิได้เน้นถึงว่าสิ่งที่ถูกทำเป็นอะไร ทำอย่างไร เป็นต้น ส่วนมากใช้ในข้อความที่เป็นท้องเรื่อง เดินเรื่องธรรมดา หรือเป็นความอธิบายเป็นเลขนอก หรือเลขในที่เป็นความบอกเล่าธรรมดาๆ ที่มิได้เน้นสิ่งอื่นนอกจากผู้ทำ

สรุปอีกทีก็คือ ประโยคที่เน้นผู้ทำ ใช้กัตตุวาจก และผุ้ทำนั้นด้องเป็นประธานในประโยค เช่น

      : สูโท โอทนํ ปจติ ฯ        เน้นผู้ทำคือ สูโท พ่อครัว
      : ธมฺมจารี สุขํ เสติ ฯ         เน้นผู้อยู่เป็นสุข
      : ภควา เอตทโวจ ฯ         เน้นผุ้กล่าว

 ๒.กัมมวาจก (ศัพท์กล่าวกรรม-สิ่งที่ถูกกระทำ)

ใช้ในกรณีที่ข้อความในประโยคนั้น ต้องการเน้นสิ่งที่ถูกทำ (กมฺม) ให้เด่นชัดขึ้น ยกสิ่งที่ถูกทำขึ้นเป็นตัวประธานในประโยค ส่วนผู้ทำ (กตฺตุ) ถือเป็นศัพท์รอง บางประโยคถึงกับไม่จำเป็นต้องใส่ตัวกัตตาเข้ามาในประโยค

ประโยคกัมมวาจกนี้ ส่วนมากใช้ในข้อความที่ผู้พูด ผู้เขียนมุ่งเน้นว่าสิ่งที่ถูกทำนั้นสำคัญที่สุด จึงเน้นไว้เป็นประธาน ส่วนมากจะใช้ในประโยคเลขในและใช้กิริยากิตก์คุมพากย์

จำง่ายๆ ว่า "ประโยคใดเน้นที่ สิ่งที่ถูกทำ ประโยคนั้นเป็น กัมมวาจก" ตัวอย่างเช่น

  1. ตาต มยา สตฺถุ ธมฺมเทสนา สุตา ฯ ต้องการเน้นเทศนามากกว่า ผู้ฟัง (มยา) (๑/๖)
  2. สตฺถารา หิ สณฺหสุขุมํ ติลกฺขณํ อาโรเปตฺวา อาทิมชฺฌปริโยสานกลฺยาณธมฺโม เทสิโต ฯ ต้องการเน้นสิ่งที่ถูกแสดง (ธรรม) มากกว่าผู้แสดง (สตฺถารา) (๑/๖)
  3. อิทาเนเวโก คีตสทฺโท สูยิตฺถ ฯ ต้องการเน้นสิ่งที่ถูกได้ยินมากกว่าผู้ได้ยิน ถึงกับไม่ใส่เข้าในประโยค (๑/๑๕)

ทั้งสามประโยคนี้ หากแต่งเสียใหม่ว่า

  1. ตาต อหํ สตฺถุ ธมฺมเทสนํ สุณึ ฯ
  2. สตฺถา หิ สณฺหสุขุมํ ติลกฺขณํ ฯเปฯ อาทิมชฺฌปริโยสานกลฺยาณธมฺมํ เทเสสิ ฯ
  3. อิทาเนเวกํ คีตสทฺทํ สุณี ฯ

ก็ถูกต้องใช้ได้เหมือนกัน แต่หย่อนอรรถรส เพราะทั้งสามประโยคนี้กลับเป็นการยก หรือเน้นตัวกัตตาไปเสีย

ขอให้ดูประโยคต่อไปนี้เพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจดียิ่งขึ้น

      : เอวมฺเม สุตํ ฯ
      : เตน วุตฺตํ ฯ
      : อมฺมตาตา มยา ภิกฺขุสหสฺสํ นิมนฺติตํ ฯ (๑/๗๑)
      : อถ กึ ทฺวีหตีหํ สทฺโท น สุยฺยติ ฯ (๒/๓๐)

อนึ่ง ยังมีประโยคที่เน้นสิ่งที่ถูกทำเหมือนกัน เนื้อความก็เป็นรูปกัมมวาจกอยู่ แต่กลับแต่งเป็นประโยคกัตตุวาจกไป ได้แก่ ประโยคที่เราเรียกว่า "กัต. นอก กัม. ใน" นั่นเอง ที่เป็นดังนี้เพราะต้องการเน้นอีกต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่ถูกทำนั้นยังไม่ได้สูญหายไป ยังคงอยู่ เช่น

      : ราชา นคเรหิ มานิโต โหติ
      : อิทํ สิกฺขาปทํ ภควตา ภิกฺขูนํ ปญฺญตฺตํ โหติ

๓. ภาววาจก (ศัพท์กล่าวความมีความเป็น)

ใช้ในกรณีที่ข้อความนั้นมิได้เน้นผู้ทำ มิได้เน้นสิ่งที่ถูกทำ แต่เน้นกิริยาอาการของผู้ทำ (อนภิหิตกตฺตตา) ว่าเป็นอะไร มีอย่างไร ประโยคภาววาจกมีที่ใช้น้อย ส่วนมากมักพบในรูปของปัจจัยในกิตก์ คือ ตพฺพ ปัจจัย เป็นพื้น ในรูปของอาขยาตมีน้อย เช่น

      : เตน ภูยเต ฯ (เน้นความเป็นของเขา)
      : (อยฺเยน) ทิวา น นิทฺทายิตพฺพํ ฯ (เน้นกิริยานอน) (๑/๖๓)
      : (อยฺเยน) อกุสีเตน ภวิตพฺพํ อารทฺธวิริเยน ฯ (๑/๖๓)
      : (อยฺเยน) สายํ สพฺเพสุ สุตฺเตสุ วิหารโต อาคนฺตพฺพํ ปจฺจูสกาเล สพฺเพสุ อนุฏฺฐหิเตสุเยว วิหารํ คนฺตพฺพํ ฯ (เน้นกิริยาอาการ) (๑/๖๓)

มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ ประโยคภาววาจกนี้ กิริยาจะต้องเป็นอกัมมธาตุเท่านั้น บางครั้งนักศึกษาไปพบศัพท์กิริยาสกัมมธาตุมีรูปร่างเหมือนกิริยาภาววาจกเข้า และศัพท์นั้นท่านมิได้วางประธานหรือกรรมไว้ให้เห็น ก็เหมาเอาว่าเป็นภาววาจก อย่างนี้เรียกว่าผิดสัมพันธ์เช่น

      :  เย น เทนฺติ, เตสํ น ทาตพฺพํ ฯ (๓/๖๒)
      : สุขํ ภุญฺชิตพฺพํ ฯ (๓/๖๓)
      : ตตฺถ เวทิตพฺพํ ฯ (ดูในมงฺคลตฺถทีปนี

๔. เหตุกัตตุวาจก (ศัพท์กล่าวถึงผู้ทำอันเป็นเหตุ-ผู้ใช้ให้ทำ)

ใช้ในกรณีที่ข้อความประโยคนั้น เน้นผู้ใช้ให้ทำกิริยาอาการนั้นมิได้เน้นตัวผู้ทำหรือผู้ถูกใช้ให้ทำ หรือสิ่งที่ถูกทำแต่ประการใด ทั้งผู้ใช้นั้นก็มิได้ทำกิริยานั้นเองด้วย

จำง่ายๆ ว่า ประโยคใดเน้นผู้ใช้ให้คนอื่นทำ ประโยคนั้นเป็นเหตุกัตตุวาจก ตัวอย่างเช่น

      : สามิโก สูทํ โอทนํ ปาเจติ ฯ   เน้นนายซึ่งเป็นผู้ใช้)
      : กลหํ นิสฺสาย หิ ลฏฺกิกาปิ สกุณิกา หตฺถินาคํ ชีวิตกฺขยํ ปาเปสิ ฯ เน้นนก ผู้ทำให้ถึง) (๑/๕๑)

ในบางกรณี ประโยคเหตุกัตตุวาจกนี้ จะไม่ต้องใส่ตัวการิตกมฺม (ผุ้ถูกใช้ให้ทำ) หรือ กมฺม (สิ่งที่ถูกทำ) เข้ามาในประโยคก็ได้ เพราะไม่ได้เน้นถึง กระนั้นก็เป็นอันทราบกันได้โดยนัย เช่น

      : ราชา ตถา กาเรสิ ฯ  (ขาดการิตกมฺม และ กมฺม) (๑/๔๐)
      : โส สตฺถุ ทานํ ทตฺวา ตุมหากํ ปาเปสฺสติ ฯ (ขาดการิตกมฺม) (๑/๙๔)
      : ราชา สกลวีถิยํ เภริญฺจาราเปสิ ฯ (ขาดการิตกมฺม)

๕. เหตุกัมมวาจก (ศัพท์กล่าวสิ่งที่ถูกเขาใช้ให้ทำ)

ใช้ในกรณีที่ข้อความในประโยคนั้น เน้นสิ่งที่ถูกผู้ใช้ให้เขาทำ โดยยกสิ่งนั้นขึ้นมาเป็นตัวประธานและครองกิริยาในประโยค เช่น

      : สามิเกน สูเทน โอทโน ปาจาปิยเต
      : อยํ ถูโป ปติฏฺฐาปิโต
      : สุนนฺทาย โปกฺขรณี การิตา ฯ (๒/๑๐๒)
      : มยา ตสฺส ปณฺณสาลา ฌาปิตา ฯ (๓/๑๕๗)

 รวมความว่า จะแต่งเป็นรูปประโยควาจกใด ให้อ่านความไทยให้เข้าใจชัดเจนก่อนว่า ประโยคนั้นเขาเน้นประธาน หรือเน้นกรรมเป็นต้น แล้วแต่งประโยคเป็นวาจกนั้นๆ ดังกล่าวมาโดยยึดแบบเป็นหลักเกณฑ์ และแต่งเป็นวาจกใด ต้องประกอบประธาน กิริยา กรรม เป็นต้น ให้ถูกต้องตามวิธีไวยากรณ์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะไม่ทำให้เสียความหมายและเสียคะแนนดังกล่าวแล้วข้างต้น.

  • Author: admin
  • Hits: 32395





 


40603907
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
20378
28899
126764
40302836
654932
937182
40603907

Your IP: 18.117.196.217
2024-04-25 18:49
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search