หลักการแปลมคธเป็นไทย

หลักการแปลมคธเป็นไทย มี ๙ อย่าง ต้องดำเนินการแปลไปตามลำดับ ดังต่อไปนี้

  1. อาลปนะ
  2. นิบาตต้นข้อความ
  3. บทกาลสัตตมี
  4. บทประธาน
  5. บทเนื่องด้วยประธาน
  6. กิริยาในระหว่าง ของประธาน และประโยคแทรก
  7. บทเนื่องด้วยกิริยาในระหว่าง และประโยคแทรก
  8. กิริยาคุมพากย์
  9. บทเนื่องด้วยกิริยาคุมพากย์

ลำดับใดไม่มีในประโยค ก็ให้ข้ามไป แต่ประธานและกิริยาคุมพากย์ ถ้าไม่มี ต้องเติมเข้ามาแปล (ยกเว้นประโยคภาววาจก ไม่มีประธาน  และประโยคลิงคัตถะ ไม่มีกิริยาคุมพากย์)

ถ้ามีอนภิหิตกัตตา แปลว่า "อัน" ลงในอรรถตติยาวิภัตติ    หรือ การิตกัมมะ แปลว่า "ยัง" ลงในอรรถทุติยาวิภัตติ   ของกิริยาใด* ให้แปลก่อนกิริยานั้นเสมอ
(ลงวิภัตติอื่นก็มี เช่น ลงฉัฏฐีวิภัตติ แต่แปลลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ แปลว่า "อัน" เรียกชื่อว่า ฉัฏฐีอนภิหิตกัตตา 
ลงฉัฏฐีวิภัตติ แต่แปลลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ แปลว่า "ยัง" เรียกชื่อว่า ฉัฏฐีการิตกัมมะ ฯลฯ)

* อนภิหิตกัตตา การิตกัมมะ    มีในกัมมวาจก ภาววาจก เหตุกัตตุวาจก เหตุกัมมวาจก

ประโยคแทรก  ปรากฏอยู่ส่วนใดของประโยค ก็ให้แปลทันที  เช่น ถ้าอยู่ต้นประโยคหลัก ก็แปลได้ทันที  ไม่ต้องแปลประธานของประโยคหลักเสียก่อน

คำอธิบายรายละเอียดลำดับการแปลข้างต้นนั้น ดังนี้

1.อาลปนะ  

คำร้องเรียก  มี 2 อย่าง คือ

  1. อาลปนะนาม นามนามที่ประกอบด้วยอาลปนวิภัตติ เช่น  ภิกฺขเว ยกฺข ตาต อมฺม (สาธารณนาม), ติสฺส สารีปุตฺต (อสาธารณนาม) เป็นต้น
  2. อาลปนะนิบาต  มี 10 ตัว คือ  ยคฺเฆ ขอเดชะ  ภนฺเต  ภทนฺเต ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  อาวุโส ดูก่อนผู้มีอายุ  อมฺโภ แน่ะผู้เจริญ ภเณ พนาย  เร เว้ย  อเร โว้ย  เห เฮ้ย  เช แม่

อาลปนะนาม ถ้ามาพร้อมกับอาลปนะนิบาต 5 ตัวนี้  คือ ภนฺเต ภทนฺเต อาวุโส อมฺโภ ภเณ 
ให้แปลอาลปนะนามก่อน  แล้วจึงแปลอาลปนะนิบาต  เช่น

วเทหิ  ตาว  อาวุโส  ปาลิต
  ดูก่อนปาลิตะ  ผู้มีอายุ  อ.ท่าน  จงกล่าว  ก่อน. (ธบ1/จักขุบาล)

อาลปนะนาม  ถ้ามาพร้อมกับอาลปนะนิบาต 5 ตัวนี้ คือ ยคฺเฆ เร อเร เห เช  ให้แปลอาลปนะนิบาตก่อน  เช่น

อเร  ขุชฺเช  อติพหโลฏฺฐกโปลํ  เต  มุขํ. (ธบ2/สามาวตี)
   เฮ้ย  แน่ะหญิงค่อม  อ.ปาก  ของเจ้า  มีริมฝีปากและกระพุ้งแก้มอันหนายิ่ง.

ถ้ามีอาลปนะนามหลายบท  ให้แปลที่อยู่หน้าก่อนเสมอ  แล้วแปลอาลปนนามที่เหลือ เป็นบทวิเสสนะ  เช่น

อนฺธพาล  อหิริก  ตฺวํ  มยา  สทฺธึ  วตฺตุํ  น  ยุตฺตรูโปสิ. (ธบ3/สุปฺปพุทฺธกุฏฺฐิ)
  ดูก่อนอันธพาล  ผู้ไม่มีความละอาย  อ.ท่าน เป็นผู้มีรูปไม่ควรแล้ว  เพื่ออันกล่าว  กับ ด้วยเรา  ย่อมเป็น.

อาลปนะนามที่กล่าวถึง ชื่อ แซ่, โคตร สกุล ให้แปลก่อนเสมอ  แล้วแปลอาลปนนามหรืออาลปนนิบาตอื่นๆ เป็นบทวิเสสนะ  เช่น

ชูตกมฺเมน  โภ  โคตม  ชีวามิ.
  ข้าแต่พระโคดม  ผู้เจริญ  อ.ข้าพระองค์  ย่อมเป็นอยู่  ด้วยการเล่นสะกา. (4/อนตฺถปุจฺฉกพฺราหฺมณ)

อิงฺฆ  ปสฺส  มหาปญฺญ  มหาโมคฺคลฺลาน  มหิทฺธิก. (ธบ8/อุคฺคเสนเสฏฺฐิปุตฺต)
  ข้าแต่พระมหาโมคคัลลานะ  ผู้มีปัญญามาก ผู้มีฤทธิ์มาก   เชิญเถิด  อ.ท่าน  จงดู.

ภนฺเต  ปิณฺโฑลภารทฺวาช
  แน่ะท่านปิณโฑลภารัทวาชะ  ผู้เจริญ.

2. นิบาตต้นข้อความ 

บอกเนื้อความต่างๆ  มีดังนี้

กิร ขลุ สุทํ,  หนฺท ตคฺฆ อิงฺฆ,  อาม อามนฺตา,  สเจ เจ อถ ยทิ ยนฺนูน อปฺเปวนาม,  หิ จ ปน,  อถวา อถโข

3. กาลสัตตมี 

คือศัพท์ที่ประกอบด้วยสัตตมีวิภัตติ หรือ แปลออกสำเนียงสัตตมีวิภัตติได้ และบอกกาลเวลา โดยเฉพาะที่วางไว้ต้นๆ ประโยค

  1. กาลสัตตมีนาม  เช่น 
    สัตตมีวิภัตติ : สํวจฺฉเร, มาเส, ทิวเส, ขเณ, กาเล, เอกสฺมึ สมเย
    ทุติยาวิภัตติ แปลเป็นสัตตมีวิภัตติ : เอกทิวสํ, อเถกทิวสํ, ตํทิวสํ, เอกํ สมยํ
    ตติยาวิภัตติ แปลเป็นสัตตมีวิภัตติ : เอเกน สมเยน
  2. กาลสัตตมีนิบาต  เช่น  อถ  ปาโต  ทิวา  สายํ
  3. กาลสัตตมีสัพพนาม  เช่น  ยทา  ตทา  เอตรหิ  อิทานิ  อชฺช  กุทาจนํ

4. บทประธาน 

คือศัพท์ที่ประกอบด้วยปฐมาวิภัตติ หรือแปลออกสำเนียงปฐมาวิภัตติได้ 

  1. นามนาม  เช่น  ปุริโส  ครุ  นารี  อกฺขิ
  2. นามกิตก์  เช่น  ธมฺมจารี  ทายโก  กตฺตา  กรณํ  คมนํ  สํวโร
  3. กิริยากิตก์ที่ใช้เป็นนามนาม เช่น  พุทฺโธ  ชีวิตํ  คนฺตพฺพํ
  4. ตัทธิตนามนาม  เช่น  สามเณโร  สหายตา อรหตฺตํ
  5. ปุริสสัพพนาม  เช่น  โส  สา  ตํ,  เต  ตา  ตานิ,  ตฺวํ  ตุมฺเห,  อหํ  มยํ
  6. สังขยานามนาม ตั้งแต่ เอกูนสตํ (99) ขึ้นไป
  7. บทสมาสนามนาม  เช่น  สํสารวฏฺฏํ  นตฺถิปูโว อโหสิกมฺมํ คตฏฺฐานํ
  8. บทพิเศษ  นิบาตที่ลงในอรรถปฐมาวิภัตติ เช่น 
    เอวํ  อ.อย่างนั้น,  ตถา  อ.อย่างนั้น,  อลํ  อ.อย่าเลย, -ตุํ  อ.อัน... อ.การ.. อ.ความ...,  อชฺช  อ.วันนี้,  สาธุ  อ.ดีละ

5. บทเนื่องด้วยประธาน 

คือ บทที่แปลหรือสัมพันธ์เข้ากับตัวประธาน

6. กิริยาในระหว่าง

ที่เข้ากับประธาน ได้แก่  กิริยากิตก์

อนฺต  ตวนฺตุ  ตาวี  มาน  ต    5 ตัวนี้  ต้องมี ลิงค์ วิภัตติ วจนะ เสมอกับประธาน
ตูน  ตฺวา  ตฺวาน                  3 ตัวนี้  ไม่ต้องแจกด้วยวิภัตติ

7. บทเนื่องด้วยกิริยาในระหว่าง

คือ บทที่แปลหรือสัมพันธ์เข้ากับกิริยาในระหว่าง

8. กิริยาคุมพากย์ 

ได้แก่ กิริยาอาขยาตทั้งหมด และกิริยากิตก์ 3 ตัว  คือ  ต  อนีย  ตพฺพ  (ที่มีประธานเป็นปฐมบุรุษ)

9. บทเนื่องด้วยกิริยาคุมพากย์ 

(บทที่แปลหรือสัมพันธ์เข้ากับกิริยาคุมพากย์)
(กิริยากิตก์ หรือ กิริยาอาขยาต  ที่เข้าสมาสแล้ว  จัดเป็นนามนามหรือคุณนาม  เช่น  ทิฏฺฐปุพฺโพ วยปฺปตฺโต  นตฺถิปูโว  ใช้เป็นกิริยาในระหว่าง หรือกิริยาคุมพากย์ไม่ได้)


ที่มา http://www.palidict.com

 

  • Author: admin
  • Hits: 25896
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search